สอนมือใหม่จัดเซ็ต Desktop DAC-Amp ให้ลงตัวอย่างเทพ – EP 1
การเลือกและใช้งาน DAC-Amp แบบตั้งโต๊ะอาจจะเป็นเรื่องกล้วยๆสำหรับนักฟังผู้โชกโชนประสบการณ์ แต่สำหรับมือใหม่ที่เพิ่งเข้าสู่วงการแล้วก็อาจจะเป็นเรื่องปวดหัวไม่ใช่น้อย เอาเป็นว่าในบทความนี้เราจะสรุปวิธีการเลือกซื้อ วิธีการเซ็ทอัพให้ทุกท่านได้ทราบกันแบบม้วนเดียวจบไปเลยครับ ยิ่งท่านใดกำลังมองหา DAC-Amp ตัวแรกเข้าประจำการอยู่ล่ะก็ แวะมาอ่านซักนิดจะเพิ่มความมั่นใจในการเลือกซื้อแบบสุดๆไปเลยคร้าบ
หลักการเลือกซื้อ Desktop DAC-Amp
1. จัดแบบคอมโบหรือแยกร่างดีกว่ากัน?
ประเด็นแรกที่ควรพูดถึงก็คือเราจะใช้ DAC-Amp แบบคอมโบที่รวมร่างทั้งสองฟังค์ชั่นนั่นคือ DAC และ Amplifier อยู่ในเครื่องเดียวหรือจะใช้งานแบบแยกออกมาเป็นสองเครื่อง (Stack) ถึงจะดีกว่ากัน?
ข้อนี้ถือว่าเลือกไม่ยากครับ ถ้าเน้นความง่ายและสะดวกการใช้ DAC-Amp แบบคอมโบมัดรวมกันมาเลยย่อมสะดวกกว่าครับ ใช้งานก็ง่าย เซ็ทอัพก็ง่ายกว่า ประหยัดพื้นที่การจัดวาง ยิ่งใครฟังเพลงบนโต๊ะทำงานเซ็ทอัพแบบนี้จะง่ายกว่ามากครับ
แต่ถ้าเน้นความยืดหยุ่นหรือว่าอยากจะขยับขยายระบบการฟังเพลงของเราในอนาคต การใช้งานแบบแยก DAC และ Amp ออกจากกันจะเวิร์คกว่ามากครับ แน่นอนว่ามีความยุ่งยากกว่าแบบคอมโบ แต่ถ้าพูดถึงความสามารถที่เราจะปรับเปลี่ยนโทนเสียงเพิ่มเติมได้ หรือใช้งานไปสักพักแล้วเบื่อแอมป์อยากจะเปลี่ยน DAC หรือเบื่อ DAC แล้วอยากจะเปลี่ยนแอมป์ก็สามารถทำได้อย่างอิสระ ค่อยๆขยับขยายอัพเกรดซิสเต็มของเราไปเรื่อยๆก็สนุกไปอีกแบบครับ
แต่ไม่ใช่ว่า DAC-Amp แบบคอมโบจะมีคุณภาพเสียงที่สู้ไม่ได้นะครับ เพราะระดับเรือธงของแต่ล่ะค่ายก็บอกเลยว่าไม่ธรรมดาแน่นอน
2. เลือก DAC ให้เหมาะกับอุปกรณ์ของเรา
ไม่ว่าจะเป็นแบบคอมโบหรือแบบแยก ก่อนอื่นเราต้องดูก่อนว่า source ที่เราใช้งานฟังเพลงเป็นหลักนั้นคืออะไร จะได้เลือก DAC ที่ตรงกับอุปกรณ์ของเราครับ ซึ่งข้อนี้เราจะดูที่ระบบการเชื่อมต่อที่ DAC มีให้ครับ เช่น
- USB input : แบบนี้ก็จะเหมาะกับการฟังเพลงผ่านคอมพิวเตอร์หรือว่าเพลเยอร์ (DAP) รวมถึงสมาร์ทโฟนด้วยครับ โดยใช้การเชื่อมต่อผ่านช่อง USB นั่นเอง
- Bluetooth input : ถ้าอยากใช้งานแบบไร้สายหรือชอบสตรีมมิ่งเพลงผ่านสมาร์ทโฟนและแท็ปเลตอย่าลืมมองหา DAC ที่สามารถรับสัญญาณ Bluetooth หรือทำหน้าที่เป็น Bluetooth Receiver ได้ด้วยนะครับ
- Digital input (Optical, Coaxial, AES หรือ IIS) : ในกรณีที่คุณฟังเพลงผ่านเครื่องเล่น CD หรือใช้งานเครื่องเกมส์คอนโซลอย่างเช่น Playstation 5 ก็อาจจะต้องมองหา DAC ที่มี Digital input แบบที่ยกตัวอย่างมาด้วยนะครับ เพราะเราจะส่งข้อมูลดิจิตอลมาที่ DAC ได้โดยตรง ทำให้เซ็ทอัพระบบได้ง่ายครับ
3. เลือก Amp ให้เหมาะกับอุปกรณ์ของเรา
ถัดมาก็จะเป็นเรื่องของ Amplifier ล่ะครับที่ต้องให้เหมาะกับอุปกรณ์ที่เราใช้งานอยู่เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น
- หูฟังที่เราใช้ : ข้อนี้ก็จะขึ้นอยู่กับรูปแบบของหูฟังที่เราใช้ครับ ถ้าเราใช้หูฟังฟูลไซส์ขนาดใหญ่ที่บริโภคพลังงานสูงก็ต้องดูกันให้ดีว่า Amp ตัวนั้นจ่ายพลังงานให้หูฟังของเราได้เพียงพอหรือไม่ ซึ่งวิธีการเช็คอัตราบริโภคพลังงานของหูฟังรวมถึงการเลือกแอมป์ให้เหมาะสมนั้นสามารถจิ้มเข้าไปดูได้ที่บทความ เมื่อไหร่ที่คุณต้องใช้ “แอมป์”? ได้เลยครับ
นอกจากเรื่องพลังงานแล้วก็ยังมีเรื่องของการเชื่อมต่อด้วยนะครับ อย่างเช่นเราใช้งานหูฟังระบบ Single Ended 3.5mm หรือว่า Balanced ซึ่งมีทั้ง 4.4mm Pentaconn และ XLR
- ใช้งานกับลำโพงหรือต่อไปยังเพาเวอร์แอมป์ภายนอกด้วยมั้ย? : บางท่านอาจจะไม่ได้ฟังเพลงผ่านหูฟังเท่านั้น แต่ยังมีลำโพงหรือชุดเครื่องเสียงที่บ้าน ก็ต้องเลือก DAC-Amp ที่มี Line Output อย่างเช่น RCA หรือ XLR ด้วยนะครับ เพราะมันจะแปรสภาพ DAC-Amp ของเราให้เป็น Pre Amp แล้วส่งสัญญาณไปยังลำโพงแบบแอคทีฟหรือเพาเวอร์แอมป์ได้ด้วยขนาดของสัญญาณที่มีความเหมาะสมครับ
4. การรองรับไฟล์เพลงต่างๆ
นอกจากเรื่องของฮาร์ดแวร์แล้วก็อย่าลืมดูเรื่องของซอฟแวร์กันด้วยนะครับ ซึ่งประเด็นหลักๆก็คงจะอยู่ที่ความสามารถในการรองรับรายละเอียดที่ DAC สามารถทำได้ ถ้าคุณซีเรียสกับการฟังเพลงและมีไฟล์ Hi-Res อยู่ในสต็อคเป็นจำนวนมากก็จำเป็นต้องเลือก DAC-Amp ที่รองรับรายละเอียดสูงๆด้วย ไม่ว่าจะเป็น PCM หรือว่า DSD
ถ้าเน้นการฟังเพลงแบบสตรีมมิ่งด้วยก็อย่าลืมความสามารถในการถอดรหัสไฟล์ MQA ด้วยนะครับ โดยเฉพาะใครที่มีแอคเคานท์ของ Tidal อยู่ล่ะก็ จัด DAC-Amp ทั้งทีอย่าพลาดข้อนี้เป็นอันขาด
หรือใครที่ชอบฟังเพลงผ่านระบบ Bluetooth แล้วซีเรียสกับคุณภาพเสียงเช่นกัน ก็ต้องไม่ลืมเช็คว่า DAC ตัวนั้นรองรับ codec Hi-Res อย่างเช่น LDAC หรือว่า aptX ด้วยรึเปล่านะครับ
หลักการเลือกซื้อเลือกหา DAC-Amp โดยรวมก็จะประมาณนี้ล่ะครับ อันที่จริงก็อาจจะมีลูกเล่นเล็กๆน้อยๆถ้า DAC-Amp มีแถมมาให้ก็จะเยี่ยมมากๆ อย่างเช่น รีโมทคอนโทรล, ระบบฟิลเตอร์หรือว่า EQ Preset ซึ่งถ้ามีมาให้ด้วยก็จะช่วยให้เราใช้งานได้สะดวกยิ่งขึ้นครับ
การเลือกซื้อ DAC-Amp ให้ตรงกับการใช้งานจะช่วยให้เราประหยัดงบประมาณและสามารถใช้ DAC-Amp ตัวนั้นๆได้อย่างเต็มประสิทธิภาพครับ แน่นอนว่าเรื่องคุณภาพเสียงที่ยอดเยี่ยมคือสิ่งที่คุณจะได้รับกลับมาอย่างแน่นอนครับ
เอาล่ะครับเมื่อเลือกซื้อ DAC-Amp กันได้แล้วล่ะก็ต่อไปก็จะเป็นเรื่องของวิธีการใช้งานกันล่ะ
Desktop DAC Amp setup
ในเรื่องของการใช้งานหรือฟังค์ชั่นของ DAC-Amp แต่ละรุ่นก็อาจจะต้องไปดูกันที่คู่มือของใครของมันล่ะนะครับ แต่ในการเซ็ทอัพหรือเชื่อมต่อทั่วๆไปนั้น DAC-Amp จะมีวิธีการใช้งานเหมือนๆกันหมดครับ
1. การเชื่อมต่อ DAC เข้ากับคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟน
เมื่อเราเชื่อมต่อ DAC เข้ากับคอมพิวเตอร์หรือว่าสมาร์ทโฟนก็จะเป็นการบายพาส (Bypass) ระบบ DAC เดิมที่อยู่ภายในคอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟนทันทีครับ
DAC ในปัจจุบันแทบจะทั้งหมดเป็นระบบ Plug&Play หมดแล้ว เมื่อเราเชื่อมต่อผ่านสาย USB ก็สามารถใช้งาน DAC ได้ทันทีโดยไม่ต้องลงไดรเวอร์แต่อย่างใดครับ (ส่วนมากจะเป็น Mac OS แต่ถ้าเป็น Windows บางรุ่นก็จำเป็นต้องลงไดรเวอร์ครับ) ที่เหลือเราก็แค่เข้าไปใน Audio Setup ของคอมพิวเตอร์และเลือก DAC ของเราให้เป็น Output หลักเท่านี้ก็พร้อมใช้งานครับ
ส่วนของสมาร์ทโฟนหรือแท็ปเลทจะยิ่งง่ายเข้าไปอีกครับ เพราะเมื่อเชื่อมต่อ DAC ปุ๊บระบบจะสวิทช์มาใช้งาน DAC ภายนอกทันที
2. การเชื่อมต่อ DAC ผ่าน Digital input อื่นๆ
การเชื่อมต่อผ่าน Digiatal input อื่นๆอย่างเช่น Optical หรือว่า Coaxial ก็ไม่ได้มีอะไรยุ่งยากครับผม แค่เชื่อมต่อก็พร้อมใช้งานได้ทันทีเช่นกัน เพียงแต่ว่าเราต้องมาปรับที่ตัว DAC ด้วยว่าเรากำลังรับสัญญาณจาก Digital input อันไหนอยู่ถึงจะได้ยินเสียงครับ
สำหรับอุปกรณ์อย่างเช่นเครื่องเกมส์ Playstation ก็อาจจะต้องเข้าไปเซ็ทอัพที่ Audio Output Setting เพื่อเลือกเอาท์พุตให้เป็น Optical แทนที่จะเป็น HDMI ครับ
3. Bluetooth เชื่อมต่อได้ง่ายๆ
สำหรับการเชื่อมต่อผ่านบลูทูธน่าจะง่ายกว่าใครเพื่อน แค่ปรับที่ DAC ว่าเลือกอินพุตเป็น Bluetooth แล้วก็ทำกาน Pairing เหมือนอุปกรณ์ไร้สายทั่วไปก็พร้อมใช้งานทันทีครับ
4. ปรับ Gain ให้ถูกต้อง
สำหรับ DAC-Amp แบบคอมโบเมื่อเราปรับอินพุตเรียบร้อย แค่เสียบหูฟังเข้าไปเท่านี้ก็พร้อมบันเทิงทันทีครับ แต่สำหรับ DAC-Amp บางรุ่นที่มีความสามารถในการ Matching Gain ได้ (การปรับความแรงสัญญาณให้เหมาะสมกับอิมพีแดนซ์ของหูฟัง) อย่างเช่น ZEN DAC ก็อย่าลืมปรับค่านี้ให้ตรงกับหูฟังที่เราใช้งานอยู่ด้วยนะครับ
ตรงนี้ค่อนข้างสำคัญครับ เพราะถ้าเราใช้หูฟังตัวเล็กๆแต่ไปตั้งค่าเป็น Hi-Gain ไว้จะทำให้สัญญาณที่ได้แรงเกินไป อาจจะเกิดอาการดิสทอร์ชั่นทำให้เสียงไม่ค่อยน่าฟัง หรือถ้าเราใช้หูฟังที่มีอิมพีแดนซ์ค่อนข้างสูงแต่ปรับค่าเป็น Low Gain ก็จะทำให้ฟังเสียงแล้วรู้สึกไม่เต็มอิ่ม ขาดชีวิตชีวาได้ครับ
5. เชื่อมต่อ DAC เข้ากับ Amp
สำหรับใครที่เล่นชุดแยกหรือว่า stack ก็จำเป็นต้องเชื่อมต่อจาก DAC ไปยัง Amp อีกทีครับ ซึ่งส่วนมากก็จะเชื่อมต่อผ่านสาย RCA ครับ แต่ถ้าใครใช้ DAC และ Amp รุ่นที่สูงขึ้นมาอีกหน่อยก็จะเชื่อมต่อด้วยระบบ Balanced ผ่านสาย XLR หรือ Pentaconn 4.4mm. ก็ได้ครับ
6. ตั้งค่าให้ถูกเมื่อใช้งานกับลำโพงหรืออุปกรณ์ภายนอก
DAC รุ่นใหม่ๆมักจะมีความสามารถในการทำหน้าที่เป็น “Pre Amplifier” ได้ในตัวไม่ว่าจะเป็น DAC จากค่าย iFi หรือว่า TOPPING ซึ่งทำให้เราสามารถส่งสัญญาณไปยังลำโพงแบบ Active (ลำโพงที่มีแอมป์ในตัว) หรือส่งสัญญาณไปยังเพาเวอร์แอมป์เพื่อขับลำโพงแบบ Passive ได้เลย โดยใช้ปุ่มโวลลุ่มบนตัว DAC ในการควบคุมระดับเสียง
สำหรับ DAC-Amp บางรุ่นอย่างค่าย iFi จะมีให้เลือกโหมด Output ระหว่าง Fixed หรือ Variable ด้วย ถ้าเราต้องการให้ DAC ทำหน้าที่เป็น Pre Amp ตามปกติก็ให้ตั้งค่าเป็น VARIABLE ครับ แต่ในกรณีที่เราส่งสัญญาณจาก DAC ไปที่ Pre Amp ภายนอกก็ให้ตั้งค่าเป็น FIXED แทนซึ่งจะทำให้เราใช้งานปุ่มโวลลุ่มบนตัว DAC ไม่ได้เพราะสัญญาณถูกส่งตรงไปยังภายนอกเรียบร้อยแล้วนั่นเอง
เป็นยังไงกันบ้างครับกับวิธีการเลือกหา DAC-Amp มาใช้งานรวมถึงการเซ็ทอัพในเบื้องต้น ถ้าดูกันดีๆแล้วก็จะเห็นว่า DAC-Amp นั้นใช้งานได้ง่ายมากๆ แค่เรารู้ว่าจะเชื่อมต่อจากไหนไปไหนและตั้งค่าพื้นฐานให้ถูกต้องเท่านั้นเองครับ แค่นี้คุณภาพเสียงที่ได้รับก็จะทำให้คุณบันเทิงขึ้นอีกหลายเท่าตัวครับ
สำหรับตอนต่อไปเดี๋ยวเราจะมาแนะนำ DAC-Amp ตัวเป็นๆที่มีคุณสมบัติและฟังค์ชั่นที่น่าใช้สุดๆ รับรองว่าเห็นแล้วต้องอยากเสียทรัพย์กันอย่งแน่นอนครับผม