DAC-Amp หางหนูมันพอมั้ยสำหรับ หูฟัง Full-size
ในยุคที่ Dongle DAC-Amp หรือ DAC-Amp แบบหางหนูได้รับความนิยมอย่างมาก และนับวันสเปคของเค้าก็ดีวันดีคืนขึ้นเรื่อยๆ หลายท่านน่าจะสงสัยกันแน่ว่า เลือกใช้หางหนูตัวเดียวจบ แมทช์กับหูฟังทุกรูปแบบเลยได้มั้ย โดยเฉพาะหูฟัง Full Size เนี่ยมันขับไหวรึเปล่า งานนี้เดี๋ยวเรามาลงรายละเอียดกันครับ
อย่าพึ่งดูกันที่ขนาด
ถึงแม้ว่าคอนเซปต์ในการออกแบบ DAC-Amp หางหนู จะเป็นไปเพื่อการพกพา ทำให้ตัวเครื่องต้องมีขนาดเล็ก ซึ่งก็แน่นอนว่าต้องตัดระบบจ่ายพลังงานภายในตัวออกไปแล้วมาพึ่งพาพลังงานจากอุปกรณ์ที่เป็น Host อย่างโทรศัพท์, แท็ปเลทหรือว่าคอมพิวเตอร์แทน
โดยคอมมอนเซนส์แล้วเรามักจะติดกันว่าภาคขยายหรือ Amplifier ไม่น่าจะมากพอที่จะขับหูฟังตัวใหญ่ๆได้เป็นแน่ ซึ่งโดยไอเดียก็ถือว่าถูกครับ แต่ก็ไม่ได้ถูกต้องซะหมด มันยังมีปัจจัยที่สำคัญอีก 2 อย่างมาเกี่ยวข้องก็คือ
สเปคของ DAC-Amp
ตอนนี้ในตลาดเรามี DAC-Amp หางหนูให้เลือกมากมายหลายรุ่นครับ ทั้งไซส์เล็ก ไซส์ใหญ่ ราคาหลักร้อยยันหลักหมื่น ทีนี้ถ้าจะถามว่าหางหนูเหล่านี้มันพอสำหรับใช้งานร่วมกับหูฟังฟูลไซส์หรือไม่อย่างแรกก็ต้องดูที่สเปคของหางหนูที่เราจะใช้ก่อนครับ
ซึ่งข้อนี้ก็ไม่ยาก ถ้าเราสนใจ DAC-Amp หางหนูรุ่นไหนก็สามารถมาดูที่ค่า Output Power ของเค้าได้เลยว่ารองรับสูงสุดอยู่ที่เท่าไหร่ ถ้าเทียบกับสเปคหูฟังที่เรามีแล้วกำลังขับมันครอบคลุมได้ก็ใช้ได้ไม่มีปัญหาครับ โดยเฉพาะหางหนูที่มีเอาท์พุตแบบ 4.4mm BALANCED จะเป็นตัวเลือกที่ดีมาก เพราะโดยธรรมชาติของระบบแล้วเอาท์พุตแบบนี้จะให้กำลังขับได้มากเป็นสองเท่าถ้าเทียบกับเอาท์พุตแบบ 3.5mm Single-Ended ปกติ
แต่จุดนึงที่เราต้องระวังก็คือเป็นเรื่องปกติที่ DAC-Amp หางหนูที่มีกำลังขับสูงมันก็จะดึงพลังงานมาจากอุปกรณ์ Host มาอย่างเต็มที่เช่นเดียวกัน ซึ่งส่วนใหญ่เราก็มักจะเอาหางหนูไปพ่วงกับโทรศัพท์กันอยู่แล้ว ทำให้เวลาใช้งานโทรศัพท์แบตจะหมดได้อย่างรวดเร็ว จากรูปตัวอย่าง Shanling UA2 ที่มี Amp กำลังสูงภายในสามารถสูบพลังงานได้ถึง 730mA ภายในสามชั่วโมง ฉะนั้นถ้าจะใช้กับหูฟังที่บริโภคสูงด้วยแล้วล่ะก็อาจต้องพ่วง power bank มาใช้งานด้วยครับ
สเปคของหูฟัง
ถึงเราจะพูดกันถึงหูฟังฟูลไซส์ แต่ก็ไม่ได้แปลว่าหูฟังฟูลไซส์ทุกรุ่นจะต้องบริโภคพลังงานมหาศาลไปเสียทุกรุ่น โดยเฉลี่ยหูฟังฟูลไซส์มักจะมีค่า impedance อยู่ที่ประมาณ 32 ไปจนถึง 300 โอห์ม และมีค่า Sensitivity อยู่ที่ประมาณ 100 (dB / mW) บวกลบนิดหน่อยไม่เกิน 5 โดยประมาณ
สเปคระดับนี้ DAC-Amp หางหนูหลายรุ่นสามารถรับมือได้สบายครับ เว้นเสียแต่ว่าคุณจะใช้หูฟังฟูลไซส์ระดับ 300 ถึง 600 โอห์มขึ้นไป งานนี้ก็ต้องบอกว่าค่อนข้างเกินกำลังของหางหนูไปซักหน่อย
เราสามารถคำนวนความต้องการพลังงานของหูฟังได้ไม่ยากครับ ลองเซิร์จ Google โดยใช้คีย์เวิร์ดว่า Headphone Power Calculator จะมีหลายเวปไซต์ให้เรากรอกสเปคหูฟังแล้วเค้าจะคำนวนออกมาเป็นค่าพลังงานที่หูฟังต้องการได้ง่ายๆเลยครับ
ปัญหาเวลาที่เราใช้ DAC-Amp หางหนูที่ไม่สามารถจ่ายพลังงานได้มากพอก็เท่ากับว่าเราไม่มีพลังงานหรือกระแสไฟมากพอจะไปขยับตัว Transducers ของหูฟังได้อย่างเต็มที่ ซึ่งจะทำให้เกิดอาการ Distortion ได้โดยเฉพาะย่าน Low ที่จะรู้สึกได้มากเป็นพิเศษทำให้เสียงขาดความคมชัด และอีกอย่างนึงก็คือเวลาฟังเพลงก็จะรู้สึกเสียงมาไม่เต็มแม้ว่าจะเร่งโวลลุ่มไปเยอะแล้ว นั่นก็เพราะว่าย่านความถี่ต่ำต้องการพลังงานในการขยับชุดไดรเวอร์มากกว่านั่นเองครับ
แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มี DAC-Amp หางหนูที่รองรับหูฟังระดับนี้ไม่ได้นะครับ อย่างหางหนูรุ่น BGVP T01S เองก็ออกตัวเลยว่าภาคขยายเค้ารองรับหูฟังขนาด 600 โอห์มได้อย่างสบายหายห่วง ก็เป็นอีกทางเลือกสำหรับผู้ที่อยากใช้หูฟังไซส์ใหญ่ร่วมกับ DAC-Amp หางหนูครับ
Dongle DAC-Amp
ถ้าอยากจะใช้ DAC-Amp หางหนูร่วมกับหูฟังฟูลไซส์ เราอาจจะต้องทำการบ้านหนักหน่อยครับ ในการเช็คสเปคของหูฟังและหางหนูที่เราเล็งเอาไว้ว่าจะสามารถเอามาแมทช์กันได้สมบูรณ์รึเปล่า ซึ่งเป็นข้อสรุปที่ว่า DAC-Amp หางหนูก็ทำงานได้กับหูฟังฟูลไซส์ แต่อาจไม่ใช่เรื่องง่ายหรือสะดวกเหมือนใช้กับ DAC-Amp แบบ Desktop แน่นอน
สำหรับหูฟัง Earbud และ IEM ทั่วไปการแมทช์กับ DAC-Amp หางหนูไม่ใช่ปัญหาเลยครับ สามารถเลือกซื้อได้โดยไปเน้นที่สเปคด้านความละเอียดหรือฟังค์ชั่นการใช้งานได้เลย แต่ถ้าอยากเอามาพ่วงกับฟูลไซส์แล้วล่ะก็ต้องเลือกดีๆครับ ไม่อย่างนั้นประสิทธิภาพที่ได้จะลดไปกว่าครึ่งเลยครับ