เทคนิคเลือก DAC เริ่มต้น สำหรับฟังเพลงจาก PC / Mac
ยินดีต้อนรับสมาชิกชาวจัดโต๊ะคอมทั้งหลายที่ต้องการ DAC ดีๆซักตัวไว้ให้เซ็ทอัพของเราฟังเพลงได้อย่างไพเราะเพราะพริ้งยิ่งขึ้น ถ้าคุณกำลังมองหา DAC ตัวแรกอยู่ล่ะก็ ไม่ต้องกังวลว่าจะเลือกไม่ถูกเพราะเรามีคำแนะนำในการมองหา DAC ที่ตรงสเปคให้เรียบร้อยครับ
1. งบประมาณ
เป็นโจทย์แรกที่ต้องตั้งให้กับตัวเองก่อนทุกครั้งที่จะหาไอเท็มใหม่ๆ แน่นอนว่า DAC ยิ่งแพงก็ยิ่งดี ไม่จำเป็นที่ว่าเป็นมือใหม่แล้วต้องใช้ DAC ระดับเริ่มต้นเสมอไป ถ้างบถึงเราสามารถกระโดดไปยัง DAC ระดับกลางหรือระดับสูงก็ทำได้เลย
แต่ว่า DAC ระดับเริ่มต้นก็ไม่ใช่ว่าจะไม่ดีครับ ในกรณีท่ีคุณไม่มีประสบการณ์การใช้งาน DAC มาก่อนเลย จะสตารท์ที่รุ่นเริ่มต้นทั้งก็ยิ่งดี พอเก็บเกี่ยวชั่วโมงบินได้มากพอแล้วค่อยๆขยับรุ่นขึ้นไปก็สนุกและได้ฝึกความสามารถในการฟังด้วย
และอีกอย่างนึงที่ต้องบอกก็คือ DAC ระดับเริ่มต้นในปัจจุบันคุณภาพค่อนข้างสูงมาก ยกตัวอย่างเช่น TOPPING E30 ซึ่งเป็น DAC ในงบห้าพันบาทที่เสียงดีเอาเรื่อง ถ้าคุณไม่เคยผ่าน DAC ระดับไฮเอนด์มาก่อนก็จะหาข้อตำหนิให้ E30 ได้ยากมากครับ แต่กลับกันสำหรับมือใหม่แล้ว E30 สามารถให้ประสบการณ์ฟังเพลงที่ยอดเยี่ยมเกินพอครับ
2. ตั้งโต๊ะอย่างเดียวหรืออยากพกพาด้วย
ด้วยความที่ว่า DAC พกพาทุกวันนี้ก็ออกแบบให้ใช้งานแบบ Desktop ได้ ทำให้เป็นอีกหนึ่งข้อที่ต้องพิจารณาด้วยว่าเราหาซื้อ DAC มาใช้บนโต๊ะทำงานอย่างเดียวหรืออยากเอาออกไปใช้ฟังเพลงข้างนอกด้วย
แต่ว่า DAC พกพาส่วนมากยังไงก็ออกแบบมาให้มีขนาดค่อนข้างเล็ก น้ำหนักเบา เวลาวางบนโต๊ะจะไม่หนักแน่น มั่นคงเหมือนกับ DAC ตั้งโต๊ะโดยเฉพาะครับ ถ้ารู้ตัวว่าเป็นพวกระเบียบจัด ชอบให้ข้าวของอยู่เป็นที่เป็นทางไม่ขยับไปไหนมาไหนง่ายๆ จัดเป็น DAC ตั้งโต๊ะขนาดเล็กก็ได้ ยังไงก็จะดูเข้าเซ็ทกับอุปกรณ์บนโต๊ะคอมมากกว่าครับ
3. DAC เพียวๆหรือแบบ All-in-one
ข้อพิจารณาต่อมาก็คือคุณอยากได้ DAC เพียวๆที่ทำหน้าที่เป็นเพียงคอนเวอร์เตอร์แล้วไปหาลำโพงหรือแอมป์มาแมทช์เอาเองรึเปล่า ข้อดีของ Pure DAC คือให้คุณภาพเสียงที่ดีเพราะไม่มีวงจรอื่นๆมาอยู่ร่วมในระบบ สามารถลดสัญญาณรบกวนไปได้มาก แต่ข้อเสียก็คือต้องหาแอมป์มาใช้งานร่วมด้วย ซึ่งจะเพิ่มความยุ่งยากให้มือใหม่เล็กน้อย
ในกรณีที่คุณใช้ลำโพงแบบ Active อยู่แล้วสามารถใช้ DAC เพียวๆตัวเดียวได้เลย ขอให้มีภาค Pre-Amp มาให้เท่านั้น เราจะได้ควบคุมระดับเสียงที่ตัว DAC ได้เลย แต่ถ้าจะใช้งานลำโพงแบบ Passive อันนี้ต้องไปหา Power Amplifier มาใช้งานร่วมด้วย ซึ่งแบบนี้จะกินพื้นที่บนโต๊ะคอมแน่นอน
ส่วนถ้าเน้นฟังเพลงกับหูฟังก็เช่นเดียวกันจะใช้ DAC อย่างเดียวแล้วไปหา Headphone Amp มาพ่วงก็ได้ หรือจะใช้ DAC-Amp ที่มี Headphone Output มาให้ด้วยเลยอันนี้ชีวิตก็จะง่ายขึ้นเยอะครับ
4. เป็นสาย Streaming ด้วยมั้ย
สาย Streaming นี่ไม่ได้หมายถึงฟังเพลงสตรีมมิ่งนะครับ ฮ่าๆ อันนี้จะถามถึงผู้ที่ใช้คอมพิวเตอร์ในการสตรีมเกมส์, เล่นเกมส์หรือทำคอนเทนต์ต่างๆ ถ้ามีกิจกรรมแบบนี้ด้วยแสดงว่าคุณมีความจำเป็นที่ต้องใช้งานไมค์โครโฟนแน่ๆ ในกรณีที่ใช้ Headset แบบเกมเมอร์อันนี้ก็หมดปัญหาไป คุณเลือก DAC แบบไหนมาเสริมทัพก็ได้
แต่ถ้าเผื่อต้องใช้ไมค์ด้วยก็จะมีอีกสองตัวเลือก หนึ่งคือเปลี่ยนจากหาซื้อ DAC มาเป็น Audio Interface ที่มี Mic Input คุณจะสามารถต่อไมค์โครโฟนเพื่อใช้งานได้และก็ยังฟังเพลงได้เช่นกัน ส่วนข้อที่สองคือเลือกใช้ DAC สำหรับการฟังเพลงเหมือนเดิมแต่เปลี่ยนไปใช้พวกไมค์ USB แทนอันนี้ก็เวิร์คสำหรับคนที่ไม่เน้นเรื่อง Pro Audio แต่เน้นความบันเทิงมากกว่า
5. ต้องการ Bluetooth ด้วยรึเปล่า
เผื่อว่าใครที่อยากเปิดเพลงจากโทรศัพท์หรืออุปกรณ์อื่นๆเข้ามาฟังเพลงที่ DAC ด้วยก็อย่าลืมมองหารุ่นที่มี Bluetooth Input ให้ด้วยนะครับ ลองดูอุปกรณ์ที่เราใช้อยู่ว่ารองรับ codec แบบไหน ถ้าเครื่องเรารองรับสูงสุดแค่ aptX ก็ไม่จำเป็นต้องไปหา DAC ที่ซัพพอร์ต codec ระดับ LDAC ก็ได้ อาจจะช่วยเซฟงบลงไปได้อีก ส่วนถ้าใครต้องการ Wireless Hi-Res Audio ก็จัดไปได้เลยเต็มที่ครับ
6. ไฟล์ฟอร์แมทและไดรเวอร์
หัวข้อนี้แจ้งไว้เพราะเดี๋ยวจะเข้าใจกันว่าเราไม่ต้องดูเรื่อง Technical Spec กันเหรอ? จริงๆ ณ ตอนนี้ DAC ทั้งหลายค่อนข้างรองรับรูปแบบไฟล์ได้หลากหลายมากๆครับ ไม่ว่าจะเป็นไฟล์ Uncompressed, Lossless หรือว่า Lossy ล้วนใช้ได้หมด ยกเว้นเสียแต่ว่าคุณต้องการฟอร์แมทที่เฉพาะจริงๆ เช่นต้องการเล่นไฟล์ DSD ความละเอียดสูงมากๆ หรือไฟล์ MQA (แต่อัพเดทกันตอนนี้ TIDAL ก็ไม่ได้ซัพพอร์ต MQA แล้วนะครับ)
ฉะนั้นในกรณีฟังเพลงด้วยไฟล์มาตราฐานหรือการใช้งานผ่านมิวสตรีมมิ่งต่างๆ DAC ส่วนใหญ่ไม่มีปัญหาอยู่แล้ว จะมีเสริมนิดนึงก็คือเรื่องของไดรเวอร์ ถ้าใครใช้ MacOS ก็สบายหน่อย DAC จะทำงานได้แบบ Plug & Play คือเสียบแล้วเล่นได้เลย แต่สำหรับ Windows อาจจะมีบางรุ่นที่ต้องติดตั้งไดรเวอร์ซะก่อนถึงจะทำงานได้ครับ
DAC for Mac & PC
น่าจะพอเป็นไกด์ไลน์ให้คุณช่วยพิจารณาตัวเลือกในการหา DAC มาใช้งานกับคอมพิวเตอร์ได้ง่ายขึ้นนะครับ เพราะว่าตัวเลือกของ DAC ในตอนนี้มันมีเยอะจริงๆ เอาเฉพาะยี่ห้อเดียวบางทีก็มีหลายรุ่นย่อยให้เลือกแล้ว ขนาดคนที่มีประสบการณ์บางทีก็ยังงง ฉะนั้นมือใหม่ก็ไม่ต้องซีเรียสไป ถ้าสนใจ DAC รุ่นไหนเป็นพิเศษสามารถทักทายเข้ามาสอบถามกันได้เลย ยินดีให้สนับสนุกทุกคนให้โดน DAC ตัวใหม่กันในเร็ววันครับ