KEF R3 Meta vs KEF R3 “old version”
ลำโพงรุ่นเก่ากับใหม่ที่เหมือนกันซะจนแยกยาก แต่คุณภาพของ R3 ทั้งรุ่นออริจินอลและ R3 Meta ก็เป็นที่รู้กันว่านี่คือลำโพงแบบ 3-Way ที่ยอดเยี่ยมมากๆจาก KEF ถ้ายังตัดสินใจไม่ได้ว่าจะเลือกโมเดลไหนมาใช้งานดี งานนี้เราสรุปรายละเอียดเปรียบเทียบทั้งคู่ไว้ให้พร้อมแล้วครับ
KEF R3 Meta vs KEF R3
KEF R3 Meta | KEF R3 | |
Drivers | 1″ Aluminum with MAT absorber Hard-Dome Tweeter / 5″ Midrange / 6.5″ Hybrid Aluminum Woofer | 1″ aluminum Dome Tweeter / 5″ Midrange / 6.5″ Hybrid aluminum Woofer |
Frequency Response | 58-28k Hz | 52-28k Hz |
Impedance and Sensitivity | 4 ohms / sensitivity of 87 dB | 8 ohms / sensitivity of 87 dB |
Power Range | 15-180watts | 15-180watts |
คล้ายแต่ว่าไม่เหมือน
เห็นหน้าตาคล้ายๆแต่อย่างพึ่งคิดว่า R3 และ R3 Meta จะเหมือนกันทุกกระเบียดนิ้วนะครับ แน่นอนว่าพื้นฐานของทั้งสองรุ่นคือลำโพงแบบ 3-way แต่รายละเอียดในเชิงมิติก็ต่างกันอยู่เล็กน้อย ความสูงของลำโพงอยู่ที่ 423mm. เท่ากันก็จริง แต่ความกว้างของ R3 Meta จะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 202mm. ส่วน R3 เดิมจะอยู่ที่ 199mm. ทำให้รูปร่างของ Meta จะดูสมส่วนขึ้นเล็กน้อย
แต่น่าแปลว่าขนาดของ R3 Meta ที่ใหญ่กว่ากลับมีน้ำหนักตัวที่น้อยกว่าครับ น้ำหนักของรุ่น Meta เท่ากับ 12.41kg ส่วน R3 จะหนักกว่าราวหนึ่งกิโลคืออยู่ที่ 13.55kg
การออกแบบคาแรคเตอร์ของลำโพงยังใช้ลักษณะ rear firing ports หรือให้เบสพอร์ตอยู่ด้านหลังเหมือนกันทั้งคู่ครับ ฉะนั้นเวลาใช้งานต้องแน่ใจว่าเหลือพื้นที่ด้านหลังลำโพงไว้บ้าง ถ้าเราใช้ลำโพงทั้งสองรุ่นนี้โดยวางลำโพงชิดผนังจะทำให้เกิดอาการเบสบวมได้ครับ
อีกจุดที่ทั้งคู่เหมือนกันก็คือขั้วต่อลำโพงเป็นแบบ bi-amping หรือ bi-wiring ครับ
ระบบไดรเวอร์
หน้าตาใกล้เคียง แถมมองจากภายนอกไดรเวอร์ก็เหมือนกันมากๆ เพราะใช้รากฐานระบบไดรเวอร์แบบ Uni-Q เช่นเดียวกัน แต่ทว่า R3 Meta จะใช้เวอร์ชั่นที่ใหม่กว่าครับนั่นก็คือ 12th Generation Uni-Q Driver ประกอบด้วยทวีตเตอร์อะลูมิเนียมขนาด 1 นิ้วที่ใช้เทคโนโลยี MAT absorber Hard-Dome ถัดมาคือไดรเวอร์มิดเรนจ์ขนาด 5 นิ้วและปิดท้ายด้วยวูฟเฟอร์ไฮบริดอะลูมิเนียมขนาด 6.5 นิ้ว
สำหรับรุ่น R3 เดิมขนาดของชุดไดรเวอร์เท่ากับ R3 Meta ทุกยูนิทครับ แต่ว่าชุดทวีตเตอร์ยังเป็นระบบเก่าที่ยังไม่มี MAT absorber
อ๋อ มีอีกเรื่องที่ต่างกันชัดเจนก็คือจุดตัดครอสโอเวอร์ครับ สำหรับรุ่น Meta จะมีจุดตัดช่วงความถี่ของลำโพงอยู่ที่ 420Hz และ 2300Hz ส่วนรุ่น R3 จะมีจุดตัดช่วงความถี่ของลำโพงอยู่ที่ 400Hz และ 2900Hz
ระบบไดรเวอร์ที่ต่างกันก็ส่งผลถึงความแตกต่างของ Frequency Response โดยตรงครับ สำหรับ R3 Meta จะสามารถตอบสนองย่านความถี่ได้ตั้งแต่ 58Hz-28kHz ส่วนรุ่น R3 น่าแปลกว่าตามสเปคสามารถลงลึกในย่านความถี่ต่ำได้มากกว่าเล็กน้อยอยู่ที่ 52Hz-28kHz
การรองรับ Amplifier
ค่าอิมพีแดนซ์ของลำโพงทั้งสองก็ต่างกันชัดเจนครับ เริ่มที่ R3 Meta เป็นลำโพงขนาด 4 โอห์ม ส่วนในรายของ R3 จะเป็นขนาด 8 โอห์ม ถึงแม้ว่าจะมีค่า Sensitivity เท่ากันคือ 87dB แต่ว่า R3 Meta ต้องการเพาเวอร์แอมป์ที่สามารถรีดเร้นแรงขับให้ได้มากกว่า ฉะนั้นตรวจสอบสเปคเพาเวอร์แอมป์ที่คุณใช้อยู่ก่อนเสียเงินด้วยนะครับ
ลำโพงทั้งสองรุ่นรองรับ Power Handle อยู่ที่ 15 – 180 watt เท่ากันทั้งคู่ครับ
KEF R3 Meta vs KEF R3
โดยภาพรวมแล้วทั้ง KEF R3 และ KEF R3 Meta ยังอยู่ในหมวดลำโพง bookshelf ระดับไฮเอนด์เหมือนกันอย่างแน่นอนครับ สำหรับผู้ที่มีพื้นที่ห้องหรือพื้นที่จัดวางลำโพงจำกัด ลำโพง bookshelf แบบ 3-way สามารถตอบโจทย์ด้านพลังเสียงและรายละเอียดได้เป็นอย่างดี เพราะให้ความถี่ต่ำที่ลึกและไล่ความถี่ไปจนถึงปลายแหลมได้ไกล แต่ไม่กินพื้นที่ใช้งานเหมือนพวกลำโพงทาวเวอร์ ถ้ากำลังเล็งลำโพง passive คู่ใหม่อยู่ล่ะก็อย่าลืมเก็บ KEF เอาไปพิจารณาอีกสองรุ่นนะครับ