Starter Guide สำหรับจัดชุดลำโพง Network
เราอยู่ในยุคที่ระบบ Network ทั้งแบบ Wired และ Wireless ดีเกินพอสำหรับส่งข้อมูลออดิโอเพื่อใช้ฟังเพลงรายละเอียดสูง สำหรับใครที่เตรียมใจไว้แล้วว่าอยากเข้าวงการนี้แน่นอน เราก็เอารายละเอียดในด้านการเซ็ทอัพมาให้ประกอบการตัดสินใจเสียทรัพย์เป็นที่เรียบร้อยครับ
ไม่ว่าจะฟังเพลงรูปแบบไหน Network Setup ก็ตอบโจทย์
การจัดชุดลำโพง Network สามารถแบ่งรูปแบบการเชื่อมต่อได้เป็น 2 รูปแบบหลักๆครับ
- Wired : เชื่อมต่อผ่านสาย Ethernet หรือว่าสาย LAN
- Wireless : เชื่อมต่อแบบไร้สายผ่าน Wi-Fi หรือ Bluetooth
ทั้งสองรูปแบบทำให้การใช้งานลำโพง Network สะดวกง่ายดายมาก ยิ่งเป็นคนที่ชอบความสะอาด เซ็ทอัพคลีนๆเนี๊ยบๆ ไม่ต้องเห็นสายเกะกะการเชื่อมต่อแบบไร้สายจะเวิร์คมาก แม้ว่าจะเชื่อมต่อผ่านสาย LAN ก็ยังถือว่าใช้สายน้อยไม่เกะกะ สามารถเก็บให้เป็นระเบียบได้ง่าย
นอกจากความสะดวกในด้านการเชื่อมต่อแล้วการใช้งานลำโพง Network ก็ยังเข้ากันได้กับรูปแบบการฟังเพลงหลักๆในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นการฟังผ่านไฟล์เพลง Hi-Res หรือว่าเป็นสายสตรีมฟังผ่านสตรีมมิ่งแอพต่างๆก็ใช้งานได้หมด เดี๋ยวเราไปดูในส่วนของอุปกรณ์ที่ต้องใช้กันก็จะเห็นภาพได้ง่ายยิ่งขึ้นครับ
อุปกรณ์ที่ใช้ในการเซ็ทอัพกัน
การจะใช้งานลำโพง Network แล้วสิ่งที่คุณต้องมีแน่ๆก็ตัวลำโพงที่รองรับระบบ Network ครับ (ก็แน่ล่ะซิ ฮ่าๆ) ซึ่งลำโพงที่อยู่ในระดับหัวแถวของวงการตอนนี้ก็จะมีลำโพงจากค่ายอย่าง KEF หรือ B&W ที่มีหลากหลายโมเดลให้เลือก สามารถซื้อหาได้ตามความชอบและงบประมาณครับ
อุปกรณ์อย่างที่สองที่ต้องมีก็คือ Source หรืออุปกรณ์ต้นทางที่เราจะใช้ส่งสัญญาณออดิโอเข้ามาฟังที่ลำโพงนั่นเอง Source ที่จะใช้ก็มีหลากหลายครับ
- Computer
- โทรศัพท์หรือแท็ปเลท
- DAP (Digital Audio Player)
- Music Streamer
- Local Network
- อื่นๆ เช่น CD Player, TV
อุปกรณ์อย่างที่สามก็คือ Router ครับ
เป็นไอเท็มสำคัญที่เป็นเหมือนตัวกลางในการส่งสัญญาณจาก Source ของเราไปยังลำโพง ไม่น่าหาซื้อยากแต่อย่างใดเพราะเป็นอุปกรณ์ที่คงมีกันทุกบ้านแล้วในปัจจุบัน Router สมัยนี้ก็รองรับทั้ง Dual Band Wi-Fi และ Ethernet อยู่แล้ว ทำให้การเซ็ทอัพลำโพงสะดวกมาก ขึ้นอยู่กับ Source ที่เราจะใช้ฟังเพลง
แค่มี 3 อย่างนี้เท่านั้นเราก็พร้อมฟังเพลงกันแล้วครับ
สำหรับการเซ็ทอัพระบบ ปัจจัยแรกก็จะอยู่กับรูปแบบการเชื่อมต่อที่เราจะใช้ครับว่าจะเป็นแบบ Wired หรือ Wireless
- การเชื่อมต่อผ่านสาย LAN แน่นอนว่าจะให้ความเร็วสูงสุด เหมาะสำหรับผู้ที่ซีเรียสด้านคุณภาพเสียง และชอบฟังเพลงผ่านไฟล์ Hi-Res ซึ่งมีขนาดข้อมูลที่ใหญ่ ใครที่ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์หรือว่ามิวสิคสตรีมเมอร์เป็น source สำหรับฟังเพลงรูปแบบนี้ก็จะเหมาะสมที่สุดครับ
- ระบบ Wireless ถ้าเป็นการเชื่อมต่อผ่าน Wi-Fi ก็ให้ความเร็วในการส่งข้อมูลที่ดีไม่แพ้กันครับ โดยเฉพาะผู้ที่ฟังเพลงร่วมกับ DAP ก็จะง่ายต่อการใช้งานมาก DAP หลายๆรุ่นในตอนนี้ก็รองรับการส่งสัญญาณ Wi-Fi ทั้ง 2.4G และ 5G กันหมดแล้ว
การเชื่อมต่อรูปแบบนี้ก็ยังเหมาะสำหรับการใช้งาน Local Network อย่างเช่น NAS, Roon, DLNA หรือ AirPlay
ลำโพงบางรุ่นยังมีภาค Streamer ในตัวมาให้เลย เราไม่ต้องไปหามิวสิคสตรีมเมอร์มาเป็น source ของระบบก็ได้ แค่ควบคุมผ่านแอพในโทรศัพท์เท่านั้น ลำโพงสามารถสตรีมสัญญาณจากเครือข่ายได้โดยตรง
- จริงๆแล้วการเชื่อมต่อแบบ Wired ก็ไม่ได้จำกัดแค่สาย LAN เท่านั้นนะครับ ลำโพง Network ส่วนใหญ่ยังมี Digital Input อย่าง Coaxial หรือ Optical บางรุ่นก็มี USB มาให้ด้วย เราจะเอา DAC มาต่อตรงเข้าไปเลยก็ได้ หรือจะส่งเสียงจากทีวีมาที่ลำโพงก็ไม่มีปัญหา
มีไอเท็มตัวเด็ดรุ่นนึงจากค่าย B&W ก็คือ Formation Audio ที่เราสามารถเอาอุปกรณ์อะนาลอคหรือดิจิตอลก็ได้มาเชื่อมต่อ แล้วเราจะสามารถส่งสัญญาณไปยังลำโพง Network ในระบบของเราได้ทันที ยกตัวอย่างเช่นเรามีทั้ง CD Player มีทั้ง Turntable ก็เอามาต่อเข้าที่ Formation Audio เพื่อฟังเพลงกับระบบลำโพงเราได้เลย ง่ายดายมากครับ
ง่ายและสะดวกจนลืมลำโพงแบบเดิมๆ
ข้อดีของลำโพงแบบ Network ก็คือเราสามารถลดอุปกรณ์ที่ต้องใช้ลงไปได้ ไม่ต้องเชื่อมต่อเยอะๆเหมือนลำโพกปกติ ลองคิดว่าถ้าเป็นลำโพงธรรมดาแบบ Passive การเซ็ทอัพระบบของเรายังจำเป็นต้องมี DAC และ Power Amplifier เพิ่มเข้ามาอีก แต่ถ้าใช้ลำโพง Network ก็สามารถตัดอุปกรณ์ทั้งสองออกไปได้เลย เพราะถูกรวมอยู่ภายในลำโพงเรียบร้อยแล้ว
ถ้าคุณชอบฟังเพลงรายละเอียดสูงแต่ไม่ชอบการตั้งชุดเครื่องเสียงใหญ่ๆ วางกันเป็น stack เยอะๆ ลำโพง Network จะทำให้ห้องของคุณดูคลีน ดูมินิมอลได้แน่นอน
ข้อดีอีกอย่างก็คือเราสามารถทำระบบ Multiroom ภายในบ้านเราได้ด้วย ถ้าเป็นลำโพง Network ยี่ห้อเดียวกัน ถึงแม้จะต่างรุ่นกัน ระบบก็ยังสามารถมองเห็นกันได้หมดครับ ยกตัวอย่างเช่นลำโพงตระกูล Formation ของ B&W ถ้าเราใช้งานฟังค์ชั่น Multiroom เราจะควบคุมลำโพงทุกตัวได้จากแอพพลิเคชั่น สามารถสั่งการให้ลำโพงทุกตัวภายในบ้านเล่นเพลงพร้อมๆกัน หรือจะเลือกให้ลำโพงแต่ละตัวเล่นคนละเพลงก็ได้
ยิ่งถ้าใครต้องการเซ็ทอัพโฮมเธียเตอร์แบบไร้สายด้วยล่ะก็ลำโพงจาก B&W เป็นอะไรที่น่าเล่นมากๆ
ลำโพง Network ส่วนมากก็ยังมีช่อง Analog input ให้ด้วย ทำให้เรายังใช้งานตามรูปแบบคลาสสิคของลำโพงได้เช่นเดิม จะเอา DAC หรือ Amp มาต่อตรงๆ รวมถึงอุปกรณ์ฟังเพลงอื่นๆก็ได้ทั้งหมดครับ
อีกอย่างที่ลืมพูดไม่ได้ก็คือเรื่องคุณภาพเสียงที่ดีเยี่ยมของลำโพง Network ในปัจจุบัน โดยเฉพาะลำโพงจาก KEF และ B&W ที่คุณเห็นกันในบทความนี้ครับ ลืมภาพจำของลำโพงไร้สายในอดีตไปได้เลย ตอนนี้คุณภาพของลำโพงเหล่านี้อยู่ในระดับไฮเอนด์ที่ออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์งาน Audiophile น้ำเสียงที่ได้จึงอยู่ในระดับสุดยอด เรียกว่าถ้าคุณจะเซ็ทอัพชุดลำโพงให้ดีเทียบเท่าลำโพง Network ไฮเอนด์เหล่านี้ก็ไม่ใช่ของง่ายๆครับ
อนาคตของลำโพงสมัยใหม่
เราน่าจะได้เห็นไลน์อัพของลำโพง Network ออกมาสู่ตลาดกันมากขึ้นเรื่อยๆครับ เพราะเป็นลำโพงที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์และรูปแบบการฟังเพลงในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี ถ้าโจทย์การใช้งานของคุณเป็นเหมือนกับรายละเอียดข้างต้นที่กล่าวมา ก็น่าจะตัดสินใจเสียงเงินกันได้ไม่ยาก แต่รับรองว่าไม่ผิดหวังแน่นอน กลัวแต่ว่าพอย้ายมาใช้ลำโพง Network แล้วจะกลับไปใช้ลำโพงรูปแบบเดิมๆไม่ได้เนี่ยซิครับ ฮ่าๆ