ดูให้ดีเรื่อง Latency ถ้าชอบหูฟังไร้สาย
ใครบ้างจะไม่ชอบใช้หูฟังไร้สาย เพราะนอกจากจะสะดวกสบายแล้วเดี๋ยวนี้ยังเสียงดีมากๆอีกต่างหาก ลำพังถ้าเราใช้แค่ฟังเพลงอย่างเดียวก็ไม่มีปัญหาซักเท่าไหร่ แต่ถ้าต้องเอาไปใช้ดูหนัง, ดูคลิปวีดีโอหรือว่าเล่นเกมส์ ทีนี้ล่ะเราจะเริ่มเจอปัญหาภาพกับเสียงไม่ตรงกัน ซึ่งก็คือเรื่องของ Latency นั่นเองครับ
หลายคนที่ผ่านการใช้หูฟังบลูทูธมาแล้วอาจจะพบเจอปัญหาว่า เวลาที่เราดูหนังหรือเล่นเกมส์ผ่านหูฟังไร้สายทำไมถึงรู้สึกว่าภาพและเสียงมันไม่ตรงกันเป๊ะๆใช่มั้ยครับ ส่วนใหญ่ที่เจอกันมักจะรู้สึกว่าเสียงมันดีเลย์หรือมาช้ากว่าภาพนิดหน่อย ซึ่งบางคนก็บอกว่าไม่นิดหน่อยล่ะ เสียงมาช้ากว่าภาพจนทนใช้งานไม่ได้เลย ฮ่าๆ ซึ่งปัญหาที่ว่านั้นทางเทคนิคเค้าเรียกกันว่า Latency ครับ
แล้ว Latency มันคืออะไรล่ะ?
Latency คือระยะเวลาระหว่างการส่งสัญญาณจากต้นทางไปจนถึงปลายทางนั่นก็คือหูฟังของเรานั่นเอง เพราะการส่งสัญญาณแบบไร้สายหรือว่าบลูทูธนั้นจำเป็นต้องมีการเข้ารหัสสัญญาณ (Encode) เพื่อส่งข้อมูลไปยังตัวหูฟัง เมื่อถึงตัวหูฟังแล้วก็ต้องถอดรหัสสัญญาณอีกที (Decode) แล้วไหนจะต้องมีการคอนเวิร์ตสัญญาณจากดิจิตอลเป็นอะนาลอคอีกต่างหาก ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นช่วงเวลาที่จะเกิดขึ้นทุกครั้งที่เราใช้งานหูฟังไร้สายอยู่นั่นเองครับ
โดย Latency จะแสดงออกมาในหน่วยค่าเวลาเป็น millisecond หรือ ms ครับ ซึ่งเอาเข้าจริงๆแล้ว หูฟังมีสายแบบปกติก็มีเรื่อง Latency กับเค้าเหมือนกันนะ เพราะการแปลงสัญญาณจากดิจิตอลออกมาเป็นอะนาลอคภายในอุปกรณ์ฟังเพลง รวมถึงการส่งสัญญาณไฟฟ้าผ่านสายสัญญาณมาถึงตัวหูฟัง ล้วนต้องใช้ระยะเวลาในการทำงานเช่นเดียวกัน เพียงแต่ระยะเวลาที่เกิดขึ้นนั้นมันน้อยมากๆจนเราแทบจับไม่ได้
หูฟัง Plantronics BackBeat Pro 2
อย่างหูฟัง Plantronics BackBeat Pro 2 เคยมีสำนักหูฟังต่างประเทศทำการทดลองไว้ว่า เมื่อเราเชื่อมต่อด้วยสายสัญญาณในการฟังเพลง จะมีค่า Latency อยู่ที่ 7ms โดยประมาณ แต่เมื่อเข้าโหมดไร้สายโดยการเชื่อมต่อบลูทูธด้วย codec SBC จะทำให้ค่า Latency พุ่งขึ้นไปอยู่ที่ 173ms เลยทีเดียว ซึ่งถ้าฟังเพลงตามปกติก็อาจจะไม่มีปัญหา แต่ถ้าใช้ดูหนังหรือเล่นเกมส์ก็อาจจะตะหงิดๆซักนิด เนื่องจากธรรมชาติของคนเราที่ค่า Latency ประมาณ 50ms ขึ้นไปก็จะเริ่มรู้สึกแล้วว่าภาพและเสียงมันไม่ตรงกัน (อันนี้ก็แล้วแต่บุคคลด้วยนะครับ เพราะผมเคยเห็นบางคนก็ใช้งานได้ปกติ ไม่ได้รู้สึกว่าเสียงดีเลย์มากแต่อย่างใด แต่ในรายที่ไวต่อความรู้สึกล่ะก็จะทนใช้งานไม่ได้เลยทีเดียว)
มันอยู่ที่ Codec
ปัญหาเรื่อง Latency แทบจะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยากมาก เพราะเป็นธรรมดาของระบบที่ต้องมีการคิดคำนวน การส่งต่อข้อมูล ซึ่งแน่นอนว่ามันก็ต้องใช้เวลานิดหน่อยในการทำงาน แต่ก็ไม่มีอะไรยากเกินความสามารถของมนุษย์เรา เมื่อบรรดาผู้พัฒนาต่างก็พยายามสร้าง codec ของบลูทูธให้สามารถส่งข้อมูลได้เยอะและรวดเร็วมากขึ้น ผลที่ได้ก็คือคุณภาพเสียงที่ดีและค่า Latency ที่น้อยลงอีกด้วยครับ
จากภาพเราจะเห็นได้ว่า codec ต่างๆมีผลต่อความไวต่อการส่งข้อมูลเป็นอย่างมาก เรื่องรายละเอียดของ codec บลูทูธแบบต่างๆนั้นถ้าใครสนใจสามารถเปิดวาร์ปกลับไปดูใน บทความเก่า ของเราได้เลยครับ
วกกลับมาที่ codec แบบเบสิคๆอย่างเช่น SBC นั้นจะมีค่า Latency อยู่ที่ประมาณ 220 – 50ms โดยประมาณ ซึ่งสำหรับบางคนที่หูตาไวรับรองว่าทนไม่ได้แน่ๆ ส่วน codec AAC ของชาวค่ายผลไม้นั้นก็ดีขึ้นมาหน่อยอยู่ที่ 120 – 30ms ส่วน codec ยอดนิยมในปัจจุบันอย่าง aptX ดูแล้วจะตอบโจทย์สำหรับคนใช้หูฟังไร้สายเป็นที่สุด เพราะดีเลย์แค่ประมาณ 70 – 10ms เท่านั้น ซึ่งค่าต่ำสุดนั้นใกล้เคียงกับการฟังแบบใช้สายสัญญาณตามปกติมากเลยทีเดียว
โดยปกติแล้วค่า Latency ที่รับได้เวลาใช้งานหูฟังไร้สายนั้นควรจะอยู่ไม่เกิน 50ms ครับ เกินกว่านี้ขึ้นไปเราจะพอจับได้แล้วว่าภาพกับเสียงมันไม่ตรงกันจนผิดธรรมชาติ แต่คำว่าไม่เกิน 50ms นี่ไม่ได้แปลว่าภาพและเสียงจะตรงกันเป๊ะๆนะครับ อย่างที่บอกว่าอันนี้ขึ้นอยู่กับความไวส่วนบุคคลแล้วล่ะ เพราะโดยธรรมชาตินั้นค่า Latency ที่เกิน 15ms ขึ้นไปบางคนก็พอจะแยกออกถึงความแตกต่างแล้ว
AptX Low Latency ทางออกของชาวไร้สาย
อย่างที่เราเห็นกันว่าตัว codec นั้นสำคัญกับเรื่อง Latency มาก อย่าไปดูที่ความสามารถในการส่งข้อมูลได้เร็วหรือว่าส่งได้เยอะๆแต่เพียงอย่างเดียวนะครับ เพราะปัญหาของ Lateny ขึ้นอยู่กับความเร็วในการ Encode และ Decode ข้อมูลด้วย เปรียบเสมือนการออกแบบ codec ที่ไวต่อการแพคของและส่งกล่องที่ถูกแพคนั้นไปให้ผู้รับปลายทางโดยสามารถแกะกล่องส่งถึงมือผู้รับได้อย่างว่องไวนั่นเอง
และนั่นก็คือโจทย์ในการพัฒนา codec aptX Low Latency ของทาง Qualcomm นั่นเอง ซึ่งก็ตามชื่อเลย codec ตัวนี้ถูกออกแบบมาให้ตอบสนองต่อเรื่อง Latency เป็นหลัก โดยพยายามทำให้ต่ำกว่า 40ms ลงมาเพื่อให้ประสาทการรับรู้ของคนเราแยกความต่างได้น้อยที่สุด
จากที่ดูในตลาดตอนนี้ก็ดูเหมือนว่า codec aptX LL (Low Latency) สามารถทำค่า Latency ได้ต่ำที่สุดแล้ว ดังนั้นใครที่คิดว่าจะหาซื้อหูฟังไร้สายไปใช้งานดูหนังหรือว่าเล่นเกมส์เป็นหลักแล้วล่ะก็ ลองดูด้วยว่าอุปกรณ์ของคุณรองรับ codec ตัวนี้หรือไม่ ถ้าได้ก็ตอบโจทย์การใช้งานของคุณแน่นอนครับ
แก้ปัญหาเรื่อง Latency กันอย่างไรดี?
ถึงเราจะบอกไว้แล้วว่าการปัญหา Latency ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นไปได้ยากเนื่องจากปัญหาธรรมชาติของระบบ แต่ก็ไม่ใช่ว่าเราจะลดการดีเลย์ของสัญญาณไม่ได้เลยทีเดียว จากกราฟในตอนแรกเราจะเห็นได้ว่าถึงเป็น codec ประเภท SBC ค่า Latency ต่ำสุดที่ทำได้ก็ยังลงมาถึง 50ms ซึ่งก็ถือว่ายังพอถูไถใช้งานได้อยู่ แต่การจะทำให้ค่าลงมาต่ำขนาดนี้ได้ก็ขึ้นอยู่กับการตรวจสอบและตั้งค่าอุปกรณ์ของเราให้ถูกต้องด้วยล่ะนะครับ
1.ตรวจเช็คความเข้ากันได้ของอุปกรณ์
ก่อนจะซื้อหูฟังไร้สายมาใช้งานโปรดเช็คสเปคทั้งตัวหูฟังและสมาร์ทโฟนของเราให้ดีๆ ว่าทั้งสองนั้นรองรับ codec ตรงกันหรือไม่ ตอนไปซื้อควรทดลองใช้งานให้แน่ใจว่าค่า Latency ที่เกิดขึ้นนั้นอยู่ในเกณฑ์ที่เรารับได้จริงๆ เพราะถ้าเกิดอุปกรณ์ไม่ซัพพอร์ตกันดีพอล่ะก็ทีนี้จะมาแก้ปัญหาทีหลังก็ทำไม่ได้แล้วนะครับ
2. ตรวจเช็คตัวหูฟังเช่นกัน
ทุกครั้งที่ใช้งานโปรดตรวจเช็คหูฟังด้วยว่าแบตเตอรี่มีมากพอหรือไม่ การทำงานรับส่งข้อมูลนั้นจะบริโภคพลังงานของแบตเตอรี่พอสมควร แบตเตอรี่ที่น้อยเกินไปก็ส่งผลต่อความเร็วในการส่งข้อมูลเช่นเดียวกัน และที่สำคัญอีกอย่างอย่าลืมเช็ค Firmware ของหูฟังด้วยว่าอัพเดทหรือไม่ เพราะส่งผลต่อความเข้ากันได้ของ OS หรือแอพพลิเคชั่นที่ใช้งานโดยตรงเลยล่ะ
บางครั้งระยะที่ใช้งานก็ส่งผลต่อความไวในการส่งข้อมูลเหมือนกันนะครับ ในกรณีของคนที่ใช้หูฟังไร้สายกับอุปกรณ์อื่นอย่างเช่นโทรทัศน์ ถ้าเกิดระยะของตัวส่งและตัวรับสัญญาณไกลขึ้นก็ย่อมเกิดการดีเลย์ในระบบเป็นธรรมดา
3. ลองเชื่อมต่อใหม่อีกครั้ง
บางครั้งเมื่อเกิดปัญหา Latency ขึ้นมาการลองปลดการเชื่อมต่อและล้างความจำของเครื่องที่เคยเชื่อมต่อกับหูฟังออกไป เสร็จแล้วค่อยลองเชื่อมต่อดูใหม่อีกครั้ง วิธีนี้ก็ช่วยให้ระบบทำงานได้ลื่นไหลเหมือนเดิมเช่นเดียวกันนะครับ
4. ลองหาดูซิว่ามีอะไรรบกวนคลื่นความถี่รึเปล่า
อุปกรณ์ไร้สายบางอย่างที่ใช้คลื่นความถี่ 2.4GHz สามารถรบกวนการทำงานของระบบ Bluetooth ได้เหมือนกัน อย่างเช่นระบบ Wi-Fi ในบ้านหรือโทรศัพท์ที่ใช้สัญญาณ 2.4 GHz หรือ 5 GHz บางครั้งก็ส่งผลต่อการใช้งานหูฟังไร้สายของเราเช่นกัน
5. เน็ทที่เราใช้เร็วพอหรือไม่
ระบบอินเตอร์เน็ทที่เราใช้งานก็ส่งผลต่อการดูหนังหรือดูคลิปวีดีโอแบบสตรีมมิ่งเหมือนกัน บางครั้งไม่จำเป็นต้องต่อหูฟังไร้สายหรอกครับ แค่ใช้อินเตอร์เน็ทผ่านเครือข่ายโทรศัพท์ทั่วไปก็ส่งผลให้ภาพและเสียงเกิดอาการดีเลย์ได้แล้ว ดังนั้นถ้าเน็ทไม่แรงจริงก็ส่งผลให้เกิดปัญหา Latency ที่หนักกว่าเดิมได้ครับ
6. บางโปรแกรมสามารถปรับค่า Latency ได้นะ
ถ้าคุณใช้งานหูฟังไร้สายกับคอมพิวเตอร์ล่ะก็ บางโปรแกรมอย่างเช่น VLC จะมีฟังค์ชั่นให้คุณปรับค่า Audio Delay ได้ด้วยนะ ซึ่งก็จะตั้งค่าเป็นหน่วย millisecond เนี่ยแหละครับ ซึ่งจะช่วยหน่วงภาพให้ช้าลงเท่ากับเวลาที่เสียงจะดีเลย์ได้ ทำให้ทั้งภาพและเสียงกลับมาซิงค์กันเหมือนเดิมนั่นเอง
สรุป
เรื่องของ Latency เป็นปัญหาพื้นฐานที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ในการใช้งานอุปกรณ์ไร้สายอยู่แล้วนะครับ จะเกิดขึ้นมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆอย่างที่ได้บอกไป เพราะฉะนั้นก่อนจะหาหูฟังไร้สายมาใช้ก็ลองตรวจเช็คสเปค ลองทดสอบการใช้งานให้แน่ใจซะก่อนว่าเราโอเคกับผลลัพธ์ที่ได้จริงๆ
แต่ถ้าคุณซีเรียสกับการดูหนังหรือเล่นเกมส์จริงจัง หูฟังที่ใช้สายสัญญาณปกติก็ดูจะตอบโจทย์ที่สุดล่ะครับ ดูอย่างโปรเกมเมอร์ทั้งหลายซิ ก็ยังวางใจในหูฟังปกติมากกว่าหูฟังบลูทูธอยู่ดีนะ