/
/
/
Safe Listening
Jaben Feature Image
Posted in LEARNING CENTER

Safe Listening

หูก็เป็นอีกหนึ่งอวัยวะที่สำคัญของคนเรานะครับ โดยเฉพาะชาว Music Lover ทั้งหลาย ถ้าไม่ถนอมสุขภาพหูกันให้ดีๆจนเกิดความเสียหายเข้าแล้วล่ะก็ ความสุขในการฟังเพลงจะลดลงไปเยอะมากๆ หรือถ้าอาการหนักจริงๆก็อาจถึงขั้นหมดสิทธิ์ฟังเพลงตลอดชีวิตเลยก็เป็นไปได้นะครับ เพราะฉะนั้นแล้วเรามาลองทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องของการได้ยิน และวิธีป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากการฟังเพลงอย่างไม่ถูกต้องกันดีกว่าครับ

ปกป้องหูของคุณจากการฟังเพลงที่ผิดวิธี

เป็นที่รู้กันว่าการฟังเพลงด้วยหูฟังนั้นสะดวกสบาย เพราะพกพาได้ง่าย ฟังที่ไหนก็ได้ ราคาในปัจจุบันนี้ก็ไม่ได้สูงมากนัก และที่สำคัญคือหูฟังทำให้เราได้ยินรายละเอียดเสียงต่างๆได้อย่างชัดเจน นั่นก็เป็นเพราะว่าต้นกำเนิดเสียงหรือ transducers นั้นอยู่ติดกับช่องหูโดยตรง แต่ข้อดีอันนี้ก็กลับกลายเป็นข้อเสียได้เช่นกัน ถ้าเราใช้มันอย่างไม่ถูกวิธี

เราอาจจะเคยเข้าใจว่าพออายุมากขึ้นความสามารถในการได้ยินก็จะค่อยๆลดลง แต่เชื่อมั้ยครับว่าปัจจุบันนี้ไม่ใช่แล้ว เพราะผลการสำรวจของประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่า วัยรุ่นถึง 1 ใน 5 คนมีโอกาสที่จะสูญเสียการได้ยินเป็นอัตราที่เพิ่มขึ้นถึง 30% เมื่อเทียบกับสมัยก่อนยุค 90’ สาเหตุก็มีอยู่หลายประการ แต่ที่เป็นต้นเหตุสำคัญที่สุดก็คือ “หูฟัง” นี่ล่ะครับ

ซึ่งอันที่จริงแล้ววิธีการปรับระดับเสียงให้เหมาะสมนั้นก็ไม่ได้มีอะไรซับซ้อนครับ ถ้าเราเข้าใจหลักการพื้นฐานในเรื่องเสียงบ้าง โดยหลักใหญ่ใจความสำคัญนั้นจะอยู่ที่เรื่องของ “ระดับความดัง” และ “ระยะเวลาในการฟัง” นั่นเองครับ

ส่วนใหญ่เราจะเคยเรียนกันมาตั้งแต่เด็กๆว่า ระดับเสียงที่มนุษย์สามารถทนรับฟังได้มากที่สุดคือ 120 dB หรือ 120 เดซิเบล ถ้ามากกว่านั้นจะทำให้เรารู้สึกถึงความเจ็บปวดที่เกิดจากระบบการได้ยินเสียงแล้ว และทางองค์การอนามัยโลกก็เคยกำหนดเอาไว้ว่าระดับเสียงที่เกิน 85 dB ขึ้นไปนั้น ก็ถือว่าเป็น “มลภาวะทางเสียง” อีกเช่นกัน ซึ่งสิ่งที่เป็นตัวแปรสำคัญอีกอย่าง ที่จะทำให้หูเราเสียหายได้เร็วขึ้นจากการฟังเสียงในระดับนี้ก็คือเรื่องของ “เวลา” ครับ

OSHA Regulation 1910.95

จากตารางฝั่งซ้ายเราจะเห็นว่าระดับเสียงล้วนอยู่ใน Danger Zone ทั้งนั้นคือเกิน 85dB ขึ้นไปหมดเลย ส่วนตารางฝั่งขวาก็จะเป็นระยะเวลาในการฟังที่จะส่งผลให้หูของเราเสียหายได้ครับ อย่างเช่นการฟังเสียงที่ความดัง 100 dB เป็นเวลาติดต่อกัน 2 ชั่วโมง ก็จะทำให้หูมีโอกาสที่จะแสดงอาการเสียหายได้นั่นเองครับ ดังนั้นถ้าเกิดมีความจำเป็นที่ต้องอยู่ในบริเวณที่มีเสียงดังเกิน 100 dB ขึ้นไปก็อย่าอยู่นานเกิน 2 ชั่วโมงนะครับ

ทีนี้บางท่านอาจจะสงสัยว่าแล้ว 100 dB นี่มันคือเสียงดังประมาณไหนล่ะ? ก็ขอตอบได้ตามตารางต่อไปนี้ครับ

จากภาพ เสียงที่ความดัง 100 dB ก็จะเทียบได้กับประมาณเสียงลำโพงในผับที่ห่างจากเราไป 1 เมตรครับ

หลายๆท่านอาจจะคุ้นเคยกับการได้ยินเสียงที่ระดับความดังเกิน 85 dB กันอยู่แล้ว โดยที่ไม่ได้รู้สึกว่าเกิดความเสียหายขึ้นกับหูของเรา ซึ่งนั่นก็เป็นปรกติครับ เพราะการฟังเสียงดังมากในระยะเวลาสั้นๆ จะยังไม่ส่งผลให้เห็นความเปลี่ยนแปลงได้ในทันที แต่โปรดทราบไว้ว่าความเสียหายที่เกิดจากการฟังนั้น สามารถสะสมเอาไว้ทีละเล็กละน้อยได้เรื่อยๆนะครับ และปัญหาสำคัญก็คือบางครั้งเราอาจจะไม่สามารถทราบได้อย่างแน่ชัด ถ้าไม่ใช้วิธีตรวจสอบทางการแพทย์ครับ

ประเภทของความสูญเสียการได้ยิน

กว่าจะรู้ตัวว่ามีปัญหาทางการได้ยินก็อาจจะสายเกินไปแล้วก็ได้  เพื่อเป็นการเตือนสติทุกท่านเวลาฟังเพลง จึงขอแนะนำประเภทของอาการสูญเสียการได้ยิน ซึ่งมีทั้งหมด 3 ประเภทดังนี้ครับ

1. Conductive hearing loss (สูญเสียการได้ยินเฉพาะการนำเสียงผ่านอากาศ)

จะเป็นอาการสูญเสียความสามารถในการนำเสียงของหูชั้นนอกหรือหูชั้นกลาง แต่หูชั้นในและระบบประสาทยังถือว่าปรกติอยู่ ซึ่งอาการก็คือยังคงได้ยินเสียงอยู่ แต่จะได้ยินเบาลง ซึ่งสาเหตุก็มีหลากหลาย แต่การฟังเสียงที่ดังเกินไปนั้น ก็นับเป็นสาเหตุหลักได้แน่นอน

2. Sensorineural hearing loss (สูญเสียการได้ยินที่โสตประสาท)

เป็นอาการสูญเสียความสามารถในการนำเสียงของหูชั้นในหรือระบบประสาทการได้ยิน การรักษาจะทำได้ยากกว่าแบบ Conductive hearing loss เพราะนอกจากจะได้ยินเสียงเบาลงกว่าปกติแล้ว บางครั้งอาจจะทำให้สูญเสียการได้ยินแบบถาวรได้เลยเช่นกัน

3. Mixed hearing loss (สูญเสียการได้ยินแบบผสม)

ก็คือการผสมกันของสองอาการแรกนั่นก็คือ Conductive และ Sensorineural hearing loss การรักษาจะยากเป็นสองเท่า และต้องใช้เทคโนโลยีการแพทย์ระดับ professional โดยเฉพาะในการรักษา

จะรู้ได้อย่างไรว่าเรามีปัญหาทางการได้ยิน

Cr.eMedicineHealth

ปรกติแล้วปัญหาเรื่องการได้ยินจะตรวจสอบได้ยากกว่าอาการหรือโรคชนิดอื่นๆ เนื่องจากมันเป็นอาการที่จะค่อยๆสะสมทีละน้อย กว่าจะรู้ตัวว่าเรามีปัญหาทางการได้ยิน พอไปพบแพทย์ก็มักจะอาการหนักแล้ว ฉะนั้นการป้องกันไว้ตั้งแต่เนิ่นๆจึงเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด แต่ถ้าเกิดว่าเรามีอาการเหล่านี้ขึ้นมา ก็ขอให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุดครับ

  • ได้ยินเสียงพูดคุยปรกติไม่ชัดหรืออู้อี้
  • เวลาสื่อสารกับผู้อื่นแล้วไม่ได้ยินหรือไม่เข้าใจในบางคำ (อาจจะเกิดปัญหาจากการไม่ได้ยินบางย่านความถี่)
  • ตามคำพูดของผู้อื่นไม่ทัน หรือต้องขอให้ผู้อื่นพูดช้าลง
  • มีอาการหูอื้อ หรือมีเสียง วิ้ง เกิดขึ้นในหู

ถ้าคุณมีอาการเหล่านี้ก็ขอให้รีบไปพบแพทย์โดยด่วน และขอให้พึงตระหนักไว้ว่า ถ้าอยู่ๆมีอาการเหล่านี้เกิดขึ้นก็แสดงว่าคุณฟังเพลงในระดับเสียงที่ดังหรือฟังติดต่อกันยาวนานเกินไปแล้วครับ

การตั้งระดับเสียงของหูฟัง

เคยสังเกตกันบ้างมั้ยครับว่าทำไมเรามักจะชอบฟังเพลงที่ระดับความดังประมาณนึง เพราะรู้สึกว่าความดังระดับนี้ทำให้รู้สึกเสียงมันแน่น เต็มอิ่ม ฟังสนุก ลองดูภาพนี้ประกอบดูนะครับ

นี่คือกราฟฟิคของ The Fletcher-Munson loudness curve หรือเรียกอีกอย่างว่า Equal loudness curve ซึ่งเป็นสิ่งที่แสดงถึงเรื่องการตอบสนองของหูคนเรา ว่าในแต่ละระดับความดัง การได้ยินย่านความถี่ต่างๆจะไม่เท่ากัน สังเกตจากเสียงที่เบามากๆ หูเราแทบจะไม่ได้ยินย่านความถี่ต่ำเลย ได้ยินแต่ย่านความถี่เสียงกลางซะมากกว่า แต่พอฟังดังขึ้นเรื่อยๆ อย่างที่ระดับ 90 dB เราจะเห็นว่าการตอบสนองแต่ละย่านค่อนข้างจะ Linear หรือ ครบถ้วนมากขึ้น นั่นจึงเป็นสาเหตุที่เราชอบฟังเสียงเพลงที่ดังประมาณนึงครับ เพราะเราจะได้ยินทุกความถี่ และทำให้รู้สึกว่าเสียงมันดี ฟังเพลงได้สนุก

แต่ปัญหาก็คือระดับที่ย่านความถี่มาครบถ้วนดันเป็นระดับเสียงที่ดังเกินไปหน่อย คือดังเกิน 85 dB ขึ้นไปอีก เพราะฉะนั้นเราไม่ควรจะฟังเพลงดังๆนานจนเกินไป หรืออาจจะใช้วิธีลดระดับเสียงลงมานิดหน่อย จากที่ฟังดังแล้วรู็สึกว่าเบสแน่น แหลมมาจัด ก็ให้เบาเสียงลงกว่าเดิมแล้วใช้ EQ ปรับแต่งชดเชยย่านความถี่นั้นๆขึ้นไปแทน

การจะตั้งระดับเสียงของหูฟังให้เป๊ะๆว่าควรจะเป็นเท่าไหร่คงไม่มีหลักการตายตัวมากนัก เพราะส่วนใหญ่คงไม่มี SPL meter (Sound Pressure Level) ไปวัดระดับความดังกันได้อยู่แล้ว ฉะนั้นก็ลองใช้วิธีกะประมาณเอาอย่างเช่น

  • ลองปรับระดับเสียงหูฟังแบบที่คุณชอบฟัง เสร็จแล้วลองถอดออกมาแล้วถือไว้ด้านหน้า ถ้ายังได้ยินเสียงลอดออกมาจากหูฟังแสดงว่าระดับเสียงอาจจะดังมากไปครับ (แต่ต้องทดสอบในสถานที่ๆค่อนข้างเงียบหน่อยนะครับ)

 

  • ถ้าเป็นหูฟังประเภท Open-Back ให้ลองใส่หูฟังแล้วเดินไปคุยกับคนอื่นดู ถ้าในขณะที่เปิดเพลงยังพอจะสื่อสารกับคนอื่นได้รู้เรื่อง ก็แสดงว่าระดับเสียงน่าจะกำลังดีแล้วครับ

 

  • ถ้าชอบฟังเพลงในสถานที่ๆค่อนข้างวุ่นวาย อย่างเวลาเดินทางไปทำงานหรือบนรถสาธารณะ แนะนำว่าให้หาหูฟังที่มีระบบ noise cancelling มาใช้จะดีที่สุดครับ เพราะปรกติเวลาอยู่นอกสถานที่เรามักจะฟังเสียงค่อนข้างดัง เพื่อชดเชยกับเสียงแวดล้อมภายนอก ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ ลองลงทุนใช้หูฟังที่ช่วยลดเสียงรบกวน จะทำให้เราได้ยินเสียงเพลงชัดเจนขึ้น โดยที่ไม่ต้องฟังเสียงดังจนเกินไปได้ครับ
Sennheiser PXC 550 BT ตัวอย่างหูฟังที่มีระบบ Noise Cancelling

การปรับระดับความดังเสียงให้เหมาะสมแต่แรก จึงเป็นเหมือนด่านที่สำคัญที่สุดครับ บางท่านอาจจะเข้าใจว่าปรับเสียงดังเพิ่มจากเดิมนิดๆหน่อยๆ ไม่น่าทำให้หูเสียได้หรอกมั้ง? แต่อย่าลืมนะครับว่า การยกระดับเสียงขึ้นมา สมมติว่าจาก 60 dB เป็น 70 dB ซึ่งฟังดูอาจไม่เยอะ แต่ถ้าใครเคยเรียนเรื่องเลข Logarithm มาจะทราบได้ทันทีว่า ถ้าแปลงค่า dB ออกมาเป็นค่าพลังงาน 60dB จะเท่ากับ 1,000,000 ส่วน 70dB จะเท่ากับ  10,000,000 คิดดูเอาก็แล้วกันนะครับว่าต่างกันกี่เท่า และนั่นคือระดับความต่างที่หูของเราต้องเผชิญครับ

Cr.Trance Republic

ควบคุมระยะเวลาในการฟัง

อย่าลืมว่าถึงเราจะฟังเสียงในระดับที่เหมาะสม แต่การฟังติดต่อกันยาวนานเกินไปก็ส่งผลเสียต่อหูเราได้เช่นกันครับ แนะนำให้ลองใช้เทคนิค “60 : 60 Rule” ดูครับ ซึ่งหลักการก็ง่ายมากๆ อย่างเวลาที่คุณฟังเพลงผ่านเพลเยอร์หรือว่าสมาร์ทโฟน ให้ปรับระดับเสียงแค่ 60% จากระดับความดังสูงสุด แล้วก็ฟังต่อเนื่องแค่ 60 นาที เท่านั้นพอครับ เท่ากับว่าคุณจะฟังเพลงในระดับเสียงที่เหมาะสม และระยะเวลาที่ไม่ยาวนานจนเกินไป ทำให้เราสามารถถนอมหูไว้ใช้งานได้อีกนานครับ

ปกป้องหูของคุณนอกจากการใช้หูฟัง

ถ้าจำเป็นต้องทำงานในสถานที่ๆมีเสียงดังมากๆ อย่างเช่นตามโรงงานหรือไซต์ก่อสร้าง แนะนำให้หาอุปกรณ์ป้องกันอย่าง earplugs ไว้ใช้งานด้วยนะครับ เพราะสามารถช่วยลดระดับความดังเสียงลงได้ 15 – 30 dB โดยประมาณ อย่างเวลาไปดูคอนเสิร์ตบางทีก็ใช้ได้นะครับ หรือไปฟังดนตรีตามผับที่เสียงดังมากเกินปรกติ ก็จะช่วยรักษาหูของคุณได้อีกเยอะครับ ยิ่งถ้าคุณเป็นนักดนตรี เวลาไปซ้อมหรือไปเล่นดนตรีในบางสถานที่ ขอแนะนำให้พก earplugs ติดตัวไว้ด้วยเลยครับ “มีแล้วไม่ได้ใช้ ยังดีกว่าพอจะใช้แล้วไม่มี” ครับ

หูฟังนั้นเป็นเหมือนเพื่อนคู่ใจของนักฟังเพลงอย่างเราๆ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นอันตรายต่อสุขภาพของคุณได้ ถ้าใช้มันอย่างผิดวิธี เพราะฉะนั้นถ้ายังอยากฟังเพลงกันไปอีกนานๆ ก็อย่าลืมปรับระดับเสียงให้เหมาะสม และฟังในระยะเวลาที่กำลังพอดีด้วยนะครับ เพื่อให้หูสุดที่รักอยู่รับใช้เราไปได้อีกนานแสนนานครับผม

Credit 

headphonesaddict.com

hearatlanta.com

 

พิมพ์ชื่อสินค้าที่ต้องการ

ตะกร้าสินค้า

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการแสดง Popup

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการแสดงโฆษณาเกี่ยวโปรโมชั่นบทเว็บของ jaben.co.th ให้กับท่าน หากท่านไม่ยินยอมให้ใช้คุกกี้ประเภทนี้ การแสดงโฆษณาให้กับท่านอาจจะมีความคลาดเคลื่อน และ ซ้ำซ้อนได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึก