เมื่อไหร่ที่คุณต้องใช้ “แอมป์”?
หลายต่อหลายคนเมื่อเริ่มเล่นหูฟังไปถึงจุดๆหนึ่ง น่าจะต้องเคยตั้งคำถามกับตัวเองว่า “เราจำเป็นต้องใช้แอมป์หูฟังหรือไม่?” มีคำบอกเล่าที่มักจะเชื่อกันว่าการใช้แอมป์จะทำให้หูฟังของเราเสียงดีขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นคำตอบที่ถูกต้องแต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด เชื่อหรือไม่ว่ากับหูฟังโดยส่วนใหญ่แล้วเราแทบไม่จำเป็นต้องพึ่งพาแอมป์หูฟังเลย
หลักการง่ายนิ๊ดเดียว
หลักการแบบเบสิ๊คเบสิคที่สุดของเรื่องนี้ก็คือ คุณจำเป็นต้องใช้แอมป์หูฟังก็ต่อเมื่อ อุปกรณ์ที่คุณใช้ฟังเพลงไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟน, เครื่องคอมพิวเตอร์ หรือว่าเพลเยอร์ของคุณให้พลังงานน้อยกว่าที่หูฟังของคุณต้องการ อ่อ! ยกเว้นว่าคุณใช้หูฟังไร้สาย อันนั้นไม่ต้องใช้แอมป์นะครับ เข้ามีแอมป์ภายในตัวหูฟังมาให้อยู่แล้วครับ ฮ่าๆ
แต่ถ้าคุณใช้หูฟังแบบที่มีสายตามปกติ เมื่อคุณเสียบหูฟังเข้ากับอุปกรณ์ที่ใช้ฟังเพลงแล้ว คุณสามารถปรับระดับเสียงได้ถึงจุดที่คุณพอใจหรือไม่? ถ้าคุณรู้สึกว่า “ก็ฟังเพลงได้ปกติดีนี่นา ปรับโวลลุ่มไม่มากก็ได้เสียงดังสนั่นหูแล้ว” ถ้าอยู่ในเคสแบบนี้แสดงว่าคุณรอดตัวไม่ต้องเสียเงินเพิ่ม
แต่ถ้าคุณรู้สึกเป็นอีกอย่างประมาณว่า “เร่งเสียงจนเกินครึ่งมาแล้วเสียงก็ยังไม่สะใจเลย ฟังแล้วรู้สึกมันอั้นๆยังไงก็ไม่รู้” อันนี้แหละครับแสดงว่าดวงของคุณมีเกณฑ์ที่จะต้องเสียทรัพย์ซะแล้ว
จริงๆแล้วก็ไม่ใช่แค่เรื่องระดับเสียงเพียงอย่างเดียวหรอกนะครับ ที่เป็นตัวกำหนดว่าชีวิตการฟังเพลงของคุณต้องการแอมป์หูฟังหรือไม่ มีหลายๆกรณีเหมือนกันที่คุณต้องพึ่งแอมป์หูฟังยกตัวอย่างเช่น
1. ชุดเครื่องเสียงที่บ้านของคุณไม่มีช่องเฮดโฟนเอาท์
อาจจะฟังเหมือนพูดเอาฮา แต่ในบางกรณีเครื่องเสียงบ้านหรือว่าโฮมเทียเตอร์โดยเฉพาะระดับไฮเอนด์ บางอุปกรณ์ก็ไม่มีเฮดโฟนเอาท์มาให้นะครับ ฉะนั้นใครอยากฟังเพลงด้วยหูฟังจากซิสเต็มแบบนี้ก็จำเป็นที่ต้องซื้อแอมป์หูฟังมาใช้เพิ่มเหมือนกันนะ
2. คุณอยากฟังเพลงอย่างเป็นอิสระโดยไม่ต้องพกสมาร์ทโฟน
อันนี้ก็จะเป็นเหตุผลให้คุณต้องหา Bluetooth DAC/AMP มาใช้งานแล้วล่ะครับ เพื่อให้คุณสามารถฟังเพลงได้ทุกที่ในบ้านโดยไม่ต้องคอยถือโทรศัพท์, คอมพิวเตอร์ หรือว่า แทปเล็ทตามไปด้วยทุกที่ แค่เชื่อมต่อผ่านระบบบลูทูธแค่นี้ก็พร้อมที่จะใช้งานแล้ว
3. คุณอยากเพิ่มประสิทธิภาพให้กับหูฟัง
หูฟังหลายรุ่นอาจจะ “พอขับเสียงไหว” ถึงแม้ว่าคุณจะต่อกับสมาร์ทโฟนก็ตาม แต่นั่นก็ยังไม่สามารถดึงประสิทธิภาพสูงสุดของหูฟังออกมาได้ จึงเป็นหน้าที่ของคุณที่จะต้องหาแอมป์มาช่วยหูฟังสุดที่รักให้เปล่งประกายถึงขีดสุด
จากหลักการเบื้องต้นเราคงพอจะเห็นได้ว่า “แอมป์หูฟัง” หรือ “Headphone Amp” ก็คืออุปกรณ์ที่ทำหน้าที่ช่วยจ่ายพลังงานหรือว่ากระแสไฟฟ้าเพื่อไปสั่งการให้ไดรเวอร์ที่ตัวหูฟังนั้นส่งเสียงออกมานั่นเอง อันที่จริงแล้วแอมป์หูฟังก็สิงสถิตอยู่ในอุปกรณ์ฟังเพลงทั่วไปอย่างเช่นสมาร์ทโฟนหรือว่าคอมพิวเตอร์แลปท็อปอยู่แล้ว เพียงแต่ว่ามันเพียงพอแค่สำหรับ “หูฟังทั่วๆไป” เท่านั้นเอง แต่ถ้าเจอกับหูฟังที่ “ไม่ธรรมดา” มันจะไม่มีเรี่ยวแรงพอให้หูฟังทำงานได้เต็มที่ครับ
หูฟังแบบไหนถึงต้องใช้แอมป์มาช่วย
เราจะรู้ได้ยังไงล่ะว่าหูฟังของเราจำเป็นต้องหาซื้อแอมป์มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพหรือไม่? ในปัจจุบันนี้หูฟังส่วนใหญ่ที่วางขายกันตามท้องตลาดมักจะเน้นที่การใช้งานร่วมกับอุปกรณ์ Portable ทั้งหลายเป็นส่วนมาก คือมักจะมีค่าความต้านทานหรือว่า impedance อยู่ไม่เกิน 35 ohms นั่นก็คือมันสามารถถูกขับเสียงได้ง่ายๆ โดยที่คุณไม่จำเป็นต้องพึ่งพาแอมป์ภายนอก ยกตัวอย่างเช่นหูฟังที่แถมมากับสมาร์ทโฟนนั่นไง
แต่เมื่อคุณเริ่มก้าวเข้ามาสู่โลกของ Audiophile อย่างเต็มตัว ตัวเลือกของหูฟังในตลาดมักจะมีค่า impedance ที่สูงขึ้น เริ่มตั้งแต่ประมาณ 55 ohms ไปจนถึง 600 ohms เลยก็มี นั่นทำให้สมาร์ทโฟนของคุณหรือแม้แต่เพลเยอร์บางรุ่นก็ไม่อาจจะให้พลังงานมากพอจะขับเสียงได้อย่างเต็มที่
เนื่องมาจากค่า impedance ที่มากขึ้นส่วนใหญ่จะมีผลกับคุณภาพเสียงที่ดีขึ้นตามไปด้วย นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมค่ายหูฟังต่างๆถึงเลือกผลิตหูฟังระดับเรือธงออกมาให้มีค่า impedance สูงๆกันเสียส่วนใหญ่
ไปดูสเปคของหูฟังกันก่อน
เราลองมาลงรายละเอียดกันอีกซักนิด เพราะมีสองจุดสำคัญที่ส่งผลให้หูฟังนั้นขับได้ยากหรือง่าย อันแรกก็คือ impedance หรือค่าความต้านทานที่พึ่งพูดถึงไป อันที่สองก็คือ Sensitivity หรือค่าความไว (บางค่ายก็ใช้คำว่า Efficiency) ใครอยากรู้ว่าหูฟังของเราสเปคเป็นยังไงก็ดูจากข้างกล่องหูฟังหรือในเวปไซต์ของแต่ละค่ายได้เลยครับ
เราจะยังไม่ลงไปในรายละเอียดด้านเทคนิคของ impedance และ Sensitivity จนเกินไปนะครับ แต่ให้สังเกตุง่ายๆว่า ถ้าหูฟังของคุณมี impedance มากว่า 55 ohms ขึ้นไปล่ะก็มีแนวโน้มว่าคุณจำเป็นต้องใช้แอมป์มาช่วยขับอีกทางหนึ่งซะแล้ว
ส่วนค่า Senistivity นั้นเป็นค่าที่บอกความดังของหูฟังเมื่อถูกป้อนกระแสไฟฟ้าเข้าไปจำนวนหนึ่ง ส่วนมากจะแทนค่ากระแสไฟฟ้าอยู่ที่ 1mW (มิลลิวัตต์) ถ้าหูฟังสองรุ่นมีค่า impedance เท่ากัน หูฟังรุ่นที่มีค่า Sensitivity “สูงกว่า” จะให้ระดับความดังที่มากกว่าเมื่อเราตั้งค่าโวลลุ่มไว้เท่ากันครับ
เลือกซื้อแอมป์ให้ตรงกับสเปคของหูฟัง
นอกเหนือไปจากประเภทของแอมป์ว่าคุณจะนำไปใช้งานกับอุปกรณ์อะไร จะใช้แบบ Portable หรือว่า Desktop อีกสิ่งสำคัญก็คือต้องเลือกซื้อแอมป์โดยที่มันมีกำลังมากพอที่จะขับหูฟังของเราไหวด้วยนะครับ ไม่ใช้ว่าไปถอยแอมป์มาใหม่แต่ดันไม่มีกำลังพอจะขับเฮดโฟนตัวยักษ์ของเรา หรือบางครั้งก็ให้พลังงานหรือมีแรงดันไฟที่ไม่แมทช์กับหูฟังที่เรามีซะหยั่งงั้น
เมื่อเราได้ตัวเลขของค่า impedance และ Sensitivity ของหูฟังมาแล้วล่ะก็ ทีนี้เราก็สามารถนำมันมาใช้คำนวนดูว่าควรจะซื้อแอมป์รุ่นไหนดีถึงจะเข้าคู่กับหูฟังเราได้ ในขั้นตอนนี้ถ้าใครไม่เก่งคำนวนอย่างผมล่ะก็ ฮ่าๆ ขอแนะนำให้เข้าไปดูที่เวปไซต์ Headphone Power Calculator เพื่อใช้คำนวนหาค่าพลังงานที่เราต้องการจากแอมป์ได้เลย
โดยในเวปไซต์จะให้เราป้อนค่า impedance และ sensitivity ของหูฟังลงไปแล้วเค้าจะช่วยคำนวนออกมาเป็นค่าพลังงานที่แอมป์ต้องการให้เรียบร้อย โดยแบ่งตามระดับความดังของเสียงตามในรูปข้างล่างครับ
จากตัวอย่างสเปคของหูฟัง ZMF ที่มีค่า impedance 300 ohms และ Sensitivity 99dB/mW เมื่อคำนวนออกมาก็จะได้ตัวเลขประมาณนี้ครับ สมมติว่าเราเป็นพวกหูเหล็กต้องการความดังมากๆ เมื่อเรารู้แล้วว่าที่ระดับความดัง 110dB SPL หูฟังของเราต้องการพลังงานประมาณ 12.55mW เราก็ไปตามหาแอมป์หูฟังที่สามารถจ่ายพลังงานได้เพียงพอกับที่เราต้องการเท่านั้นก็พอ
สเปคของแอมป์
จากในรูปจะเป็นตัวอย่างสเปคของแอมป์หูฟังยี่ห้อหนึ่ง ซึ่งเมื่อดูจากตัวเลข Maximum Power แล้วสามารถจ่ายพลังงานให้หูฟังของเราได้สบายๆเลย ฉะนั้นเราก็สามารถจัดมาใช้งานได้เลย
ถ้าดูจากสเปคของแอมป์ข้างต้นแล้วเราจะเห็นว่าพลังงานที่จ่ายมาให้นั้นเหลือเฟือเป็นอย่างยิ่ง นั่นก็ยิ่งเป็นข้อดีครับ โดยปกติแล้วเราควรเลือกซื้อแอมป์ที่สามารถจ่ายพลังงานได้มากกว่าที่เราต้องการเอาไว้บ้าง เพราะค่า impedance นั้นจะผันแปรได้ในบางจังหวะขึ้นอยู่กับความถี่เสียง หรือ Frequency ของเพลงที่เราฟังอยู่ด้วย ซึ่งเราจะเรียกว่า “impedance spikes”
ยกตัวอย่างเช่นในขณะที่เราฟังเพลงอยู่เมื่อเจอกับท่อนเพลงที่มีความถี่ต่ำบางย่าน ค่า impedance ของหูฟังอาจจะเด้งจาก 300 ohms ไปอยู่ที่เกือบ 600 ohms ได้ ฉะนั้นถ้าแอมป์ของเราสามารถรับมือกับความต้องการพลังงานที่อาจพุ่งพรวดขึ้นมากะทันหันได้ก็จะเป็นการดีครับ
อีกส่วนหนึ่งที่ต้องสังเกตุก็คือ “output impedance” ของแอมป์ที่เราจะซื้อว่ามีค่าเท่าใด หลักการแบบง่ายที่สุดในการดูค่า impedance ของแอมป์ว่าเหมาะกับ impedance ของหูฟังเราหรือไม่ก็คือกฎที่เรียกว่า “Rule of Eight” หรือว่ากฎ 8:1 ซึ่งเลข 8 จะแทนค่า impedance ของหูฟัง ส่วนเลข 1 จะแทนค่า impedance ของแอมป์ นั่นก็หมายความว่าค่า impedance ของหูฟังต้องมากกว่าค่า output impedance ของแอมป์ 8 เท่านั่นเอง (บางตำราก็บอกว่าต้องมีค่าความต่างอย่างน้อยประมาณ 2.5:1 ขึ้นไปครับ)
สาเหตุที่เราต้องการความต่างในระดับนี้ก็คือเรื่องของ “Damping Factor” ครับ อธิบายง่ายๆมันก็คือความสามารถของแอมป์ในการควบคุมการขยับตัวของไดรเวอร์ ซึ่งจะส่งผลต่อความชัดเจนของย่านความถี่ต่ำครับ ถ้าเราสามารถแมทช์ impedance ระหว่างแอมป์กับหูฟังของเราได้เหมาะสม เราจะได้ยินเบสที่แน่น กระชับ ไม่เบลอนั่นเองครับ
สรุป
ทั้งหมดนี้ก็คือความจำเป็นของแอมป์ที่คุณต้องหามาใช้ เมื่อหูฟังของคุณมีความต้องการที่จะบริโภคพลังงานมากขึ้น และวีธีเลือกซื้อแอมป์หูฟังอย่างง่ายๆ ว่าเราต้องสังเกตจากสเปคอะไรบ้างนั่นเองครับ
จริงๆแล้วการแมทช์ชิ่งหูฟังกับแอมป์นั้นสนุกมากๆ และค่อนข้างมีรายละเอียดที่ซับซ้อนพอสมควร อย่างหูฟังที่มี impedance ไม่สูงมากแต่ต้องการจะใช้แอมป์ช่วยขับต้องดูยังไงบ้าง? หรือแค่เรื่องของ impedance อย่างเดียวก็สามารถเขียนแยกได้อีกหนึ่งบทความเต็มๆเลยล่ะ แต่กลัวว่าเดี๋ยวมันจะยาวยืดเกินไปจนทุกท่านพาลสัปหงกระหว่างอ่านกันซะก่อน ฮ่าๆ เอาไว้จะทยอยนำมาเล่าให้ฟังในโอกาสต่อๆไปละกันนะครับผม