รีวิว Beyerdynamic DT1770 PRO vs DT1990 PRO มอนิเตอร์ตัวท็อปสำหรับมือโปร
เชื่อว่าหลายท่านต้องอยากรู้กันแน่ๆ ว่าหูฟังมอนิเตอร์รุ่นสูงสุดของค่าย Beyerdynamic นั่นก็คือ DT1770 PRO และ DT1990 PRO เค้ามีดีอย่างไรบ้าง เหมาะกับการใช้งานแบบไหนกันแน่ และที่สำคัญทั้งสองรุ่นนี้เค้าแตกต่างกันขนาดไหน ใครที่ยังสงสัยแวะดูได้ที่นี่เลยครับ
PROS ข้อดี | CONS ข้อด้อย |
คุณภาพเสียงที่ดีเยี่ยมที่สุดในตระกูล DT | ราคาถือว่าตึงมือพอสมควรสำหรับหูฟังทำงาน |
ถอดเปลี่ยนสายได้ด้วยขั้วต่อ mini XLR | ขับเสียงยาก จำเป็นต้องใช้แอมป์ร่วม |
วัสดุและงานสร้างดีงามระดับไฮเอนด์ |
จากที่ผมใช้งานรุ่นยอดฮิตอย่าง DT770 PRO เป็นประจำทุกเมื่อเชื่อวันและเพิ่งได้ลองเทสสองรุ่นใหม่ตระกูล DT อย่างซีรี่ส์ PRO X ไป ก็ถึงคราวเหมาะสมที่จะได้ลอง 2 ตัวท็อปที่ครองบัลลังค์ของตระกูลอยู่ซักที
อยากรู้มานานแล้วว่าสองหูฟังมอนิเตอร์ที่ดีที่สุดรุ่นนึงในโลกมันจะยอดเยี่ยมขนาดไหน
Packaging and Accessories
แพคเกจของทั้งคู่ก็จะใหญ่โตกว่าเพื่อนสมกับเป็นรุ่นใหญ่ ที่ต้องใหญ่ก็เพราะว่าภายในมาพร้อมฮาร์ดเคสใส่หูฟังอย่างดี รับประกันความปลอดภัยแม้ว่าต้องพกพาไปไหนต่อไหน
ส่วนของแถมภายในนอกจากเคสแล้วก็จะมีเอียร์แพดให้สองชุดด้วยกันคือแบบกำมะหยี่กับแบบหนัง ซึ่งนอกจากจะส่งผลกับสัมผัสและความสบายในการใช้งานแล้วก็ยังส่งผลกับคาแรคเตอร์เสียงอีกเล็กน้อย อันนี้ก็ต้องไปทดลองกันดูว่าคุณชอบแบบไหนครับ
ส่วนของสายจะให้มาค่อนข้างยาวเลยทีเดียวล่ะคือจะเป็นสายแบบตรง (Straight) ความยาว 3 เมตรและสายแบบขด (Coiled) ความยาว 5 เมตรมาให้ ผมมองว่าทางเบเยอร์ไม่ได้เน้นการใช้งานแบบพกพาอยู่แล้ว เพราะออกแบบมาให้ฟังอยู่กับที่อย่างเช่นในบ้านหรือสตูดิโอมากกว่า ฉะนั้นสายยาวแบบนี้จึงสะดวกมาก ยิ่งใครใช้งานในห้องอัดที่มีขนาดใหญ่เจ้าสาย 5 เมตรจะมีประโยชน์กับชีวิตคุณมากๆครับ
ที่เหลืออีกอย่างก็จะเป็นอะแดปเตอร์ขนาด 6.35mm. ยอดฮิตสำหรับต่อเข้าแอมป์ที่มือโปรเค้านิยมใช้กัน
Build and Comfort
ตัวหูฟังรวมไปถึงวัสดุต่างๆยอดเยี่ยมมากครับ เรียกว่าอัพเกรดจากรุ่นน้องๆอย่างก้าวกระโดด เอาแค่เรื่องดีไซน์ก็สวยที่สุดในรุ่นแล้ว ขนาดรุ่น 1770 ที่เป็นแบบ Closed-Back ดูค่อนข้างเรียบๆแต่ก็ทำออกมาได้น่าดึงดูดดีเหลือเกิน ส่วนรุ่น Open-Back อย่าง DT1990 ก็สวยงามกว่าน้องชาย DT990 PRO อีกหลายเท่าตัวเลยล่ะ
เรื่องความสบายในการสวมใส่ก็ให้ผ่านอย่างเป็นเอกฉันท์ครับ โดยเฉพาะตัวเอียร์แพดกำมะหยี่นี่นุ่มได้ใจดีจริง เรื่องสัมผัสเวลาที่สวมหูฟังผมไม่มีอะไรติดนะ น้ำหนักก็โอเคเลย ใช้งานได้นานแน่นอน
อีกจุดที่ดีมากก็คือทั้งสองรุ่นสามารถถอดสายออกได้เพราะใช้ขั้วต่อแบบ mini XLR ซึ่งก็จะเหมือนรุ่นล่าสุดอย่างคู่ PRO X เค้าเพียงแต่ว่าพี่ใหญ่ทั้งสองตัวสายจะดูมีขนาดใหญ่กว่าและออกแบบหัวแจ็คได้ล่ำบึ้กขึ้นอีกนิด
ซึ่งไอ้การที่สายถอดได้มันดีตรงที่ว่าเวลาเราเก็บหูฟังเข้าไปในเคสมันก็จะไม่เสี่ยงกับการที่ขั้วสายงอหรือหักใน ส่วนของตัวหัวแจ็ค XLR ก็แข็งแรงพอที่จะถอดเข้าถอดออกได้เป็นร้อยๆครั้งล่ะครับ
เรื่องคุณภาพของตัวหูฟังไม่ต้องเป็นห่วงเพราะงานนี้เมดอินเยอรมันอยู่แล้วครับ
Sound Quality
ไดรเวอร์ที่ติดตั้งอยู่ในรุ่น 1770 และ 1990 ก็เป็นไดรเวอร์ระดับสุดยอดของทางค่ายครับ นั่นก็คือไดรเวอร์ไดนามิค Tesla neodymium ขนาดใหญ่ 45 มิลลิเมตร ก็เป็นไดรเวอร์ที่ทางเบเยอร์ภูมิใจมากๆว่าสามารถตอบสนองความถี่ต่างๆได้อย่างสุดยอด
ส่วนของค่า Impedance จะอยู่ที่ 250 โอห์ม ครับ แน่นอนว่าถ้าไม่มีแอมป์ก็ไม่ควรใช้เพราะขับไม่พอชัวร์ ซึ่งหูฟังระดับ 250 โอห์มของเบเยอร์ถ้ากำลังขับไม่พอเสียงจะไม่น่าฟังเลยล่ะ
ส่วนใครที่มีแอมป์อยู่แล้วหรือใช้งานในสตูดิโอต่อกับแอมป์หรือออดิโออินเตอร์เฟสอันนี้ก็ไม่มีปัญหาแน่นอนครับ
Sound Stage
- DT 1770 PRO
เวทีเสียงของ 1770 ถือว่าโปร่งสบายที่สุดในตระกูล 700 แล้วล่ะครับ เป็นหูฟัง Closed-Back ที่จัดมิติมาได้ดีเลยทีเดียว เวทีเสียงไม่อึดอัดและให้สเตอริโออิมเมจในระดับดีเยี่ยม ด้วยความที่เป็นหูฟังที่เนื้อเสียงไม่หนามากจึงทำให้เวทีโปร่งโล่งเอามากๆ
- DT 1990 PRO
เรื่องเวทีเสียงแน่นอนว่าคาแรคเตอร์ของ Open-Back จะได้เปรียบเรื่องความโปร่งสบายที่มากกว่าครับ แต่ผมว่าไม่ได้ชนะแบบไม่เห็นฝุ่นเมื่อเทียบกับ 1770 เพราะมันมีเรื่องของการตอบสนองย่านความถี่ต่างๆมาประกอบด้วย
สำหรับ 1990 เวทีเสียงไม่ได้กว้างกว่า 1770 อย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากเนื้อเสียงเค้าค่อนข้างจะหนา จะเห็นว่าช่องไฟของเครื่องดนตรีนั้นโปร่งแต่ก็ยังเกาะกลุ่มกันได้เป็นเนื้อเดียวกันดีครับ สรุปได้ว่าเวทีเสียงอยู่ในมาตราฐานที่ดีเยี่ยมตามสไตล์หูฟังมอนิเตอร์ครับ ค่อนข้างเป็นธรรมชาติ ไม่ได้กระชากเลเยอร์ต่างๆออกมาจนมากเกินไป การทำงานจัดตำแหน่งเสียงต่างๆบนหูฟังตัวนี้ไม่มีปัญหาใดๆแน่นอน
Bass
- DT 1770 PRO
เบสไม่ใช่จุดขายสำหรับ 1770 ถ้าใครคุ้นเคยกับตระกูล DT ก็จะรู้ว่าเบสเค้าไม่ได้ให้มาเยอะแยกมากมาย เบสจะอิ่มพอประมาณและไม่ได้ลงลึกมากนัก เอาจริงๆเบสเค้าไม่น้อยนะครับ แต่ต้องบอกก่อนสำหรับคนที่ผ่านหูฟังสแตนดาร์ดทั่วไปมาจะรู้สึกว่าเบสเค้าแห้งไปหน่อย แต่ก็มีข้อดีในแง่ของการเก็บรายละเอียดโดยแฉพาะแอทแทคของเสียงเบสที่ยังคงคมชัด การทำงานของเบสว่องไวความหนักเบาสั้นยาวที่มือเบสเล่นสามารถเก็บได้ละเอียด
ถ้าซีเรียสเรื่องปริมาณของเบส 1770 อาจจะไม่เหมาะกับคุณมากนัก ยิ่งเทียบกับ 1990 จะรู้สึกได้อย่างชัดเจน
- DT 1990 PRO
ถึงหูฟังตระกูล DT ของเบเยอร์จะไม่ใช่หูฟังประเภทเบสถล่มทลาย แต่เบสของ 1990 ก็ไม่ได้มาน้อยๆเลยทีเดียว ปริมาณถือว่ามากพอที่จะฟังเอาสนุกก็ได้หรือจะใช้ทำงานก็สบายมากเพราะไม่ได้เยอะจนล้น ความชัดเจนของเบสอยู่ในระดับดีเยี่ยม สามารถไต่ลงลึกได้พอสมควร เรื่องเบสนี่สอบผ่านอย่างไม่มีข้อกังขา ทำได้ดีทั้งในเรื่องน้ำหนัก ความชัดเจนและความรวดเร็วในการทำงาน
Mid
- DT 1770 PRO
เสียงกลางนี่เป็นเอกลักษณ์ของซีรี่ส์ 700 เค้าจริงๆนะครับ แม้แต่ในรุ่นท็อปสุดของตัว Closed-Back อย่าง 1770 ก็ยังคงให้เสียงกลางที่จัดจ้าน โดดเด่นเช่นเดิม ความชัดเจนและความช่างฟ้องไม่เป็นรองใครทั้งนั้น ใครชอบเสียงสไตล์มอนิเตอร์จ๋าๆและอยากได้ตัวจบ 1770 ก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจครับ
สำหรับผมตระกูล 700 ของเบเยอร์ให้เสียงกลางที่ไม่ได้ไพเราะเท่าไหร่ แต่ 1770 ก็ไม่ได้ฟังยากจนเกินไป แถมในการทำงานมันช่วยให้ตัดสินใจปรับแต่งเสียงได้ง่ายครับ เนื่องจากเราได้ยินชัดและถ้าจะปรับอะไรก็เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของเสียงได้ง่าย แต่แน่นอนว่ามันอาจไม่ถูกใจคนฟังเพลงส่วนใหญ่ครับ
- DT 1990 PRO
เสียงกลางจะละมุนขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับ 1770 ความอิ่มหรือมวลเนื้อเสียงจะมีมากกว่าครับ ความชัดเจนของย่านเสียงกลางถือว่าไม่มีข้อตินะถ้าเทียบกับ 1770 คือถ้าคุณไม่ชอบความคมความพุ่งของ 1770 ก็ย้ายสาขามาที่ 1990 ได้เลย ฟังง่ายฟังเพลินกว่าเยอะ
HIGH
- DT 1770 PRO
เสียงแหลมของ 1770 ถือว่าไม่ธรรมดาเลยล่ะครับ ด้านคาแรคเตอร์ถือว่าใกล้เคียงกับ 1990 เลยแต่จะมีความพุ่งคมและบางกว่านิดหน่อย แต่ยังเก็บคาแรคเตอร์ของหูฟังมอนิเตอร์ไว้คือได้เสียงแหลมที่ไม่ปรุงแต่งจนเกินไป เรายังสามารถโฟกัสเสียงแหลมได้ง่ายและปรับแต่งเสียงได้อย่างมั่นใจครับ
- DT 1990 PRO
DT1990 สามารถพาเสียงแหลมของหูฟัง DT ตระกูล Open-Back ไปได้ไกลสุดในรุ่นจริงๆครับ โดยยังคงคาแรคเตอร์เสียงที่เป็นธรรมชาติไม่จัดจ้านจนเกินไป แต่ก็ได้เสียงแหลมที่ใสและสว่างมากกว่ารุ่นอื่นๆ ปรับแต่งโทนมาได้ละมุนน่าฟังเลยทีเดียว ถ้าเทียบกับ 1770 ถือว่าพอฟัดพอเหวี่ยงเลยล่ะ แต่ด้วยมิติที่โปร่งกว่าทำให้เราจับต้องเสียงแหลมได้มากขึ้น
Conclusion
DT1770 PRO และ DT1990 PRO เป็นตัวท็อปที่เลือกยากทั้งคู่ครับ มีดีคนละอย่าง เหมือนเป็นฝาแฝดของกันและกัน บอกตามตรงว่าบางครั้งผมก็รู้สึกชอบ 1990 มากกว่าแต่พอกลับมาฟัง 1770 มันก็มีคาแรคเตอร์ที่ไม่ได้ด้อยกว่าเลย
ยังคงเหมือนกับคู่แฝดตระกูล DT ทุ่นรุ่นคือถ้าคุณขอบความคมชัดจัดจ้านหูฟังรหัสเลข 7 จะเป็นโมเดลที่คุณควรเลือกไว้ใช้งาน แต่ถ้าชอบความละมุนมากขึ้น ฟังสบายมากขึ้น และให้เสียงเบสได้มากกว่าย้ายขั้วไปรหัสเลข 9 ได้เลยครับ
- DT 1770 PRO
สมกับที่เป็นตัวท็อปของ Closed-Back ในตระกูล DT เพราะสามารถให้รายละเอียดได้มากที่สุดแล้วในรุ่น ยังคงคาแรคเตอร์ของหูฟังมอนิเตอร์ได้อย่างเข้มข้น แต่ก็ถือว่าฟังได้ไม่ยากจนเกินไป เสียงกลางที่ชัดเจน ความสว่างและซาวด์ที่เปิดเป็นข้อได้เปรียบของเค้า มันยังเป็นหูฟังที่ค่อนไปทางคนทำงานมากกว่าสาย audiophile สำหรับใครที่อยากได้สุดยอดของหูฟังมอนิเตอร์แบบ Closed-Back ไว้ในคลังแสง DT1770 PRO ยังคงเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่ดีที่สุดครับ
- DT 1990 PRO
ส่วนตัวชอบความอิ่มอุ่นของ DT1990 PRO เค้านะครับ โทนเสียงโดยรวมอาจจะเรียกได้ว่าเค้าเป็นขั้วตรงข้ามของ 1770 ก็ว่าได้ คือซาวด์โดยรวมจะมีมวลมากกว่าทั้งเบสและเสียงกลาง จะว่าฟังง่ายสบายหูกว่าก็ได้ แต่ของอย่างงี้มันอยู่ที่ความชอบด้วยล่ะครับ