รีวิว Luxury & Precision W4 vs Cayin RU7 ตัวท็อปของ Dongle DAC
ประจวบเหมาะพอดีที่ผมได้ Dongle DAC-Amp ตัวท็อป ณ ตอนนี้มาถึงสองรุ่นพร้อมกัน จะทำรีวิวแยกทีละตัวก็เสียเวลาเลยขอมัดรวมเอาทั้งสองมาเทียบให้ดูกันไปเลยก็แล้วกันครับว่า เรือธงรุ่นใหม่จากสองค่ายอย่าง Luxury & Precision W4 และ Cayin RU7 เค้ามีทีเด็ดและแตกต่างกันที่ตรงไหนบ้าง
Luxury & Precision W4 vs Cayin RU7
Luxury & Precision W4 | PROS จุดเด่น | CONS จุดด้อย |
เป็น Digital DAC ที่เนื้อเสียงเต็มอิ่ม น้ำหนักดี | ไม่มีเคสหรือซองหนังใส่ DAC แถม | |
รองรับ Output S/PDIF ผ่านช่องหูฟัง 3.5mm | ||
ให้สาย OTG มาทั้งแบบUSB Type-C และ Lightning | ||
ฟังค์ชั่นในการปรับแต่งเสียงเยอะ | ||
Cayin RU7 | PROS จุดเด่น | CONS จุดด้อย |
ระบบ Discrete 1-Bit Resistor Ladder DAC | ไม่แถมสาย Lightning มาให้ด้วย | |
เสียงที่อิ่มหนามีน้ำหนักสไตล์อะนาลอค | ||
Fully Balanced และ High-Power Parallel Amp |
Packaging and Accessories
ปกติเวลารีวิวพวก DAC ผมมักจะข้ามในส่วนแพคเกจและอุปกรณ์ต่างๆภายในไปเลย แต่ว่าพอดีคราวนี้ต้องเปรียบเทียบกันสองรุ่นซึ่งมันมีข้อแตกต่างกันอยู่บ้างเลยยกประเด็นนี้ขึ้นมาให้ดูก่อนครับ
ตัวแพคเกจจริงๆก็สวยทั้งคู่ขึ้นอยู่กับรสนิยมของใครของมันครับ แต่อุปกรณ์ที่ให้มาจะต่างกันนิดหน่อย ในรายของ W4 จะมีข้อดีตรงให้สาย OTG มาทั้งแบบ USB-C และ Lightning ไม่ต้องไปเสียเงินซื้อเพิ่ม แล้วก็มีอะแดปเตอร์ USB-C to USB-A มาให้พร้อมเช่นกัน
ส่วนของ RU7 จะมีสาย OTG ให้แค่ USB-C เท่านั้น ใครที่เป็นชาว iOS ก็ต้องเสียเงินเพิ่มถ้าเกิดไม่มีสายอยู่แล้ว ตัวอะแดปเตอร์ก็มีมาให้เช่นกัน และยังแถมเคสหนังสำหรับใส่ตัว DAC ให้มาด้วย ซึ่งอันนี้ดีมากๆเพราะลักษณะของ DAC ที่มีส่วนประกอบเป็นกระจกเสี่ยงที่จะเสียหายหรือเป็นรอยได้ง่าย ถ้าใส่เคสไว้ก็ช่วยลดความเสียหายให้ได้ครับ เสียดายที่ W4 ถึงแม้ค่าตัวจะแพงกว่าแต่ก็ไม่ได้แถมมาให้
Design & Build Quality
เรื่องของงานออกแบบผมก็ไม่เอามาเทียบเช่นกันนะครับ แต่ถ้าถามถึงเรื่องคุณภาพงานประกอบหรือวัสดุก็ได้คะแนนเต็มทั้งคู่แน่นอน ผลิตออกมาได้ดี งานประกอบเนี๊ยบ แต่สำหรับ RU7 มีสิ่งที่ผมไม่ชอบนิดหน่อยคือปุ่มโวลลุ่มและปุ่มโหมดมันให้ตัวได้นิดหน่อย ถ้าเราเขย่าตัวเครื่องจะได้ยินเสียงก่อกแก่กๆของตัวปุ่ม ซึ่ง Dongle DAC ระดับท็อปแบบนี้ผมว่าน่าจะออกแบบปุ่มมาให้แน่นๆไปเลยมันจะรู้สึกถึงความพรีเมี่ยมสมบูรณ์แบบมากกว่าครับ
สำหรับ W4 ไม่มีข้อติในเรื่องฮาร์ดแวร์ครับ ลักษณะปุ่มควบคุมจะต่างจาก RU7 หน่อยเพราะใช้เป็น rotary knob ที่หมุนได้อิสระ สัมผัสของเสียงคลิกเวลาหมุนก็ทำได้ดีมากๆ ดูเฟิร์มแน่นหนาแข็งแรง เวลาจะเข้าสู่เมนูต่างๆก็ใช้ปุ่มนี้ล่ะครับกดลงไป ดีไซน์มาแบบปุ่มเดียวจบใช้ครบทุกฟังค์ชั่น
Features
Output
ทั้ง W4 และ RU7 รองรับ Headphone output ทั้งแบบ 4.4mm Balanced และ 3.5mm Single-Ended ครับ
ตัว W4 จะมีทีเด็ดตรงที่เอาท์พุต 3.5mm สามารถใช้ส่งสัญญาณ Digital out แบบ SPDIF ได้ด้วย ส่วน RU7 ถึงจะไม่มีลูกเล่นแบบนี้แต่ HP Out ทั้งสองก็พร้อมทำงานเป็น Line Out ให้ได้ทันที ซึ่งจะเปลี่ยนค่าเอาท์พุตเป็นแบบ fixed voltage (ไม่สามารถใช้ปุ่ม volume ได้ในโหมดนี้) ให้เราพร้อมส่งสัญญาณไปยังแอมป์ภายนอก
Resolution
แม้ว่าภาค DAC ของทั้งคู่จะต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพราะ W4 ใช้ชิป DAC เฉพาะตัวอย่าง LP5108 และ RU7 ใช้ระบบ Discrete 1-Bit Resistor Ladder ในการถอดหรัส แต่รายละเอียดสูงสุดที่ทำได้ก็ถือว่าเท่ากันครับ อยู่ที่ 32bit/384kHz และ Native DSD256
Settings
การตั้งค่า ปรับแต่งนู่นปรับแต่งนี่ ทางฝั่ง W4 จะมีลูกเล่นมากกว่าครับ เราสามารถเข้าไปที่หน้าเมนูด้วยการกดปุ่มโวลลุ่มค้างไว้ แป๊ปเดียวก็จะเข้าสู่การตั้งค่าต่างๆเช่น
- มี EQ preset ให้เลือกใช้
- มี SDF mode ซึ่งจะเป็นพรีเซ็ทสำหรับใช้งานร่วมกับหูฟังรุ่นท็อปบางรุ่น
- สามารถตั้งค่า gain ได้
- เลือก digital filter ได้
- การตั้งค่าหน้าจอ
- HID Key สามารถเลือกได้ว่าจะคุมระดับเสียงที่ตัว W4 หรือจะคุมจากอุปกรณ์ host
- เลือก UAC version ได้
- มี Tuning Profile ให้เลือกอีก 2 แบบ
ลูกเล่นเยอะเลยทีเดียวสำหรับฝั่งของ W4 ลองไปดูฝั่ง RU7 บ้างครับว่ามีอะไรให้เราซนได้บ้าง
- ตั้งค่า gain ได้ 2 ระดับเช่นเดียวกัน
- All-to-DSD สามารถเลือก convert ไฟล์ให้เป็น DSD ก่อนส่งไปยังภาค DAC ได้
- เลือกเอาท์พุตว่าจะเป็น phone หรือ line out
- ตั้งระยะเวลาการทำงานของหน้าจอ
หมดละครับสำหรับ RU7 ไม่ได้มีลูกเล่นให้ปรับแต่งซักเท่าไหร่ แต่สำหรับคนที่ชอบฟังอย่างเดียวไม่ต้องเสียเวลาเซ็ทอัพเยอะก็น่าจะชอบการใช้งานรูปแบบนี้ล่ะครับ เสียบปุ๊บพร้อมฟังเท่านั้นพอ จบ!
Sound Quality
ผมไม่ได้ลงรายละเอียดในแง่เทคนิคกันให้ดูเยอะซักเท่าไหร่นะครับ จะไปเน้นในแง่ของความรู้สึกจริงๆแบบ user ที่ได้ใช้งานมากกว่า ใครสนใจเรื่องรายละเอียดจริงๆเดี๋ยวเราจะทำบทความพรีวิวแยกรายละเอียดของทั้งสองตัวออกมาให้ชัดๆอีกทีครับ
โอเคเดี๋ยวเราจะไปเทียบความแตกต่างด้านเสียงของทั้งสองรุ่นเป็นข้อๆกันไปเลย แต่จริงๆแล้วผมอยากเกริ่นไว้ก่อนว่า ทั้ง W4 และ RU7 เป็นคู่มวยที่มีความสูสีกันมากครับ คือทั้งคู่จะมีคาแรคเตอร์เฉพาะตัวอยู่ แต่ในแง่ของการบาลานซ์โทนเสียงต่างๆ การเก็บรายละเอียด รวมถึงน้ำหนักของเสียงที่ได้จัดว่าอยู่ในระดับยอดเยี่ยมด้วยกันทั้งคู่ครับ
Sound Stage
การแยกแยะเลเยอร์ การจัดการช่องไฟต่างๆทำได้ดีเยี่ยมทั้งคู่ครับ คงบอกไม่ได้ว่าใครดีกว่ากัน แต่คาแรคเตอร์ของ W4 จะมีความเรียบร้อยสะอาดสะอ้านมากกว่านิดหน่อย ให้ความรู้สึกของเวทีเสียงที่ดูผู้ดีกว่าเล็กน้อย ส่วนความกว้าง ความลึกมิติต่างๆสุดยอดเหมือนๆกัน ถึงแม้ว่า RU7 จะให้เนื้อเสียงที่อิ่ม มวลเสียงจะเบ่งตัวมากกว่า แต่ก็ไม่ได้ทำให้รู้สึกว่าเวทีแคบหรือแบนแต่อย่างใดครับ คล้ายกับว่าเวทีเสียงของ RU7 ก็จะขยายตัวไปพร้อมกับเนื้อเสียงของเค้านั่นแหละ
Bass
ถ้าชอบแรงปะทะ ความหนักแน่นของ low end แล้วล่ะก็ RU7 จะมีภาษีดีกว่าหน่อยครับ แต่ก็ไม่ได้ต่างกันแบบหน้ามือเป็นหลังมืออะไรนะครับ ด้วยคาแรคเตอร์แบบอะนาลอคของ RU7 เลยทำให้เบสพลอยมีน้ำหนักที่ดีขึ้นตามไปด้วย ส่วน W4 จะดูสุภาพกว่าเล็กน้อยเท่านั้น เอาจริงๆแล้วผมไม่มีข้อตำหนิสำหรับ bass ของทั้งคู่เลยครับ ยอดเยี่ยมสมบูรณ์เท่าเทียมกัน แต่ถ้าใครอยากได้ความอิ่มหนา และมี sub bass ที่ดูลึกดูใหญ่กว่าอาจจะต้องมองที่ RU7 มากกว่าครับ
Mid
ถ้าชอบความสว่างๆ ใสๆ สวยๆ ก็น่าจะชอบคาแรคเตอร์ของ W4 เช่นกัน ในแง่ของปลายเสียงหรือช่วง mid-high ทำได้อย่างสวยงามทั้งคู่ครับ ความพริ้ว รายละเอียด ความคมชัดจัดว่าเยี่ยม แต่ว่า RU7 จะมี mid-low ที่ดูอิ่มกว่านิดนึง สังเกตได้จากการตั้งใจฟังเสียงกีตาร์โปร่ง ผมรู้สึกว่าปลายเสียงของสายล่างๆกรุ้งกริ้งฟังเพราะทั้งสองรุ่น แต่เวลาสตรัมคอร์ดลงไปบนสายต่ำๆ RU7 จะให้บอดี้ของกีตาร์ได้ดีกว่า เหมาะกับคนชอบเสียงกลางที่มีน้ำหนัก มีเนื้อหนังชัดเจน
High
แหลมของ W4 จะฟังออกใส พริ้ว ให้ความรู้สึกที่สะอาดกว่า RU7 อยู่บ้าง สำหรับ RU7 แหลมของเค้าจะเป็นแหลมที่มี texture มากกว่า คือด้วยการออกแบบวงจร Discrete 1-Bit Resistor Ladder แบบนี้มันทำให้โทนเสียงโดยรวมมีน้ำหนัก มีมวลที่สังเกตุได้ง่าย ต่างจากชิป digital converter แบบใน W4 ที่จะให้ความรู้สึกที่สะอาดสะอ้าน เรียบร้อยกว่าอยู่แล้วครับ
อันที่จริงต้องบอกว่า W4 เองก็ให้โทนเสียงที่อิ่มมีน้ำหนักมากกว่า DAC พกพาส่วนใหญ่ที่ผมได้เคยทดลองฟังนะครับ อย่างถ้าใครชอบความสะอาดกริ๊บ รายละเอียดแบบ Hi-Def เลยผมก็จะเชียร์ DAC ตระกูล Questyle มากกว่า แต่ถ้ายังชอบความเป็นดิจิตอลที่มีเนื้อเสียงดีด้วย W4 ก็เป็นอะไรที่ลงตัวมากๆ เว้นเสียแต่ว่าคุณเป็นชาวอะนาลอคซาวด์ ชอบน้ำหนัก ชอบเท็กซ์เจอร์ชัดๆก็มองไปทาง RU7 ได้เลยครับ
Luxury & Precision W4 vs Cayin RU7
เป็นการฟังเทียบที่ปวดหัวมากๆสำหรับผมเลยสำหรับ Luxury & Precision W4 และ Cayin RU7 เล่นเอาผมต้องสลับถอดเข้าถอดออก A/B test อยู่ตลอดเวลา จะบอกว่าคาแรคเตอร์เค้าต่างกันมันก็ใช่ แต่ก็ไม่ได้ต่างกันแบบว่าใครดีกว่ากันอย่างชัดเจน งานนี้ต้องพึ่ง taste ของแต่ละคนเป็นตัวตัดสินใจ ซึ่งขอบอกเลยว่ายากพอดู
สำหรับผม W4 มีข้อดีในเรื่องของการปรับแต่งที่ทำได้เยอะ โทนเสียงก็ยอดเยี่ยมตามสไตล์ Dongle DAC เรือธง คมชัดระดับ Hi-Res และยังได้เนื้อเสียงที่ดี ส่วน RU7 ยังคงสานต่อความยอดเยี่ยมจาก RU6 ได้อย่างสมบูรณ์ ถึงลูกเล่นจะน้อยแต่ถ้าใครชอบความเป็นอะนาลอคซาวด์ ตัวเลือกในตลาด Dongle DAC ตอนนี้คงหนีไม่พ้น RU7 เท่านั้นครับ